กรมสุขภาพจิต ห่วงผู้ป่วยจิตเวชเพิ่ม เดินหน้าปรับปรุงระบบบริการสุขภาพจิต สอดรับพฤติกรรมฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal in Mental Health Service) เริ่มใช้มิถุนายนนี้
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจจำนวนผู้เข้ารับบริการทางด้านจิตเวชทั้งในระบบผู้ป่วยใน-นอกของสถานบริการสังกัดกรมสุขภาพจิตจำนวน 20 แห่ง พบว่า ผู้ป่วยที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอกของสถาบันและโรงพยาบาลจิตเวชในช่วงเดือนเมษายน (จำนวน 61,235 ราย) มีจำนวนลดลงจากเดือนมกราคม (จำนวน 88,923 ราย) หรือคิดเป็นร้อยละ 31 และจำนวนผู้ป่วยในของสถาบันและโรงพยาบาลจิตเวชช่วงเดือนเมษายน (จำนวน 10,319 ราย) มีจำนวนลดลงจากเดือนมกราคม (จำนวน 19,685 ราย) หรือคิดเป็นร้อยละ 47.6 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปโรงพยาบาลไม่สะดวก
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่าหลังจากในเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป อาจจะเกิดการที่จำนวนคนใช้บริการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากความเครียดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเดิม จำนวนผู้ป่วยใช้บริการมากขึ้นจนอาจทำให้กระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผู้รับบริการ และจำนวนผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลอาจมากขึ้น จากการรักษาไม่ต่อเนื่องและขาดยา เป็นต้น
นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กรมสุขภาพจิตจึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบเพื่อรองรับบริการสุขภาพจิตและจิตเวชสำหรับโรงพยาบาลในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่นี้ โดยพัฒนาระบบต่างๆ บนพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้านบริการสุขภาพจิตอย่างสูงสุด เช่น การจัดระบบจองคิว/นัดหมายออนไลน์ คลินิกสังเกตอาการระบบทางเดินหายใจ การนัดหมายคนไข้ในลักษณะที่มีการเหลื่อมเวลา การรับบริการส่งยาทางไปรษณีย์หรือร้านขายยา รวมไปถึงการรับยาผ่านระบบ Drive thru เพื่อรักษาระยะห่างอีกด้วย
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเติมระบบติดตามดูแลต่อเนื่องด้านสุขภาพจิตและจิตเวชรูปแบบใหม่เพิ่มเติมอีก ได้แก่ การจัดทำระบบนัดติดตาม/Application การติดตามโดยตรงทางโทรศัพท์/VDO call (โปรแกรมโทรถามตามเยี่ยม) ระบบการรายงานตัวเอง (Self-report) ผ่าน Application/VDO call การเยี่ยมบ้านในรายกรณีที่จำเป็น/มีปัญหาซับซ้อนหรือเยี่ยมบ้านผ่านระบบ VDO call (VDO call visiting) การติดตามผ่านโรงพยาบาลเครือข่ายโดยระบบ Teleconference ให้ความรู้ในการป้องกัน ดูแลตนเอง สำหรับผู้ป่วยและญาติ (บูรณาการไปกับกิจกรรมบริการต่างๆ) การประเมินสุขภาพจิต Application
โดยหากพบมีอาการผิดปกติหรือเกิดปัญหา สามารถติดต่อขอคำปรึกษากับโรงพยาบาลใกล้บ้าน และหากเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้ขอคำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ VDO Call Teleconference รวมถึงส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจิตเวชต่อไป
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะเดินหน้าพัฒนากลไกในการบริการด้านการเยียวยาจิตใจเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้คลายความวิตกกังวล เครียด กลัว เศร้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับความช่วยเหลือทางด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด ช่วยให้สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจได้ดี และลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระยะยาว ขณะเดียวกันหากรู้สึกหมดพลัง เครียดมากขึ้น ท่านสามารถใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงเช่นเดิม