ธุรกิจ SME ภูมิภาคใด “ฟื้นช้า ฟื้นเร็ว” หลังโควิด-19

29

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) ประเมินหลังจากทยอยปลดล็อกโควิด-19 รายได้รวมของธุรกิจ SME กว่า 12% ฟื้นตัวแล้ว 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยเริ่มดีขึ้นมาก ภาครัฐได้ทยอยปลดล็อกดาวน์เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ซึ่งจะได้อานิสงค์จากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นกลับมามากที่สุด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ทำการประเมินแนวโน้มลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาค ภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยพิจารณานโยบายปลดล็อกประเทศทั้งในประเทศและตลาดส่งออกของแต่ละธุรกิจ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างธุรกิจที่มีอยู่เดิมที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแม้ปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว โดยประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนเกือบ 3 ล้านรายในปัจจุบัน ตามประเภทธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาคว่าจะสามารถฟื้นอย่างไร ซึ่งแบ่งลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาคออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ภูมิภาคที่ SMEs ฟื้นตัวช่วงนี้ (ไตรมาส 3) มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1.73 ล้านราย และมีการจ้างงานรวม 6.1 ล้านคน แยกออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ กลุ่มฟื้นตัวแล้ว คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 12% ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล” ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ฟื้นตัวคิดเป็น 14% 13% และ 12% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้นๆ ตามลำดับ เนื่องจากประเภทธุรกิจของ SMEs ในสามภูมิภาคนี้ มีความเกี่ยวโยงกับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือมีการพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก เช่น การซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าจำเป็น ธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ โรงพยาบาล/ คลินิก ยารักษาโรค และวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างภาครัฐ

กลุ่มกำลังฟื้นตัว คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 61% ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ใน “ภาคกลาง และภาคตะวันออก” โดยการฟื้นตัวคิดเป็น 65% และ 63% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้นๆ ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยจะอยู่ในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การให้บริการทางธุรกิจ การรับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนอุปการณ์เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควรในการคลายล็อกดาวน์จึงจะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กลุ่มที่ 2 ภูมิภาคที่ SMEs จะฟื้นตัวได้ปลายปีนี้ มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1.03 ล้านราย โดยมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 27% ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ และมีการจ้างงานรวม 2.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร การบริการส่วนบุคคล และสินค้าแฟชั่น หากมองการกระจุกตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ใน “ภาคใต้” ซึ่งการฟื้นตัวคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 36% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ที่อยู่ในภาคใต้ เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจภาคใต้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ แม้ว่าจะได้มาตรการภาครัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้า โดยรวมมองการฟื้นตัวจะกลับมาในปลายปีนี้

สรุปผลการศึกษาแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ของแต่ละภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ตามสัดส่วนธุรกิจ SMEs ที่ฟื้นตัวแล้วและกำลังฟื้นตัวที่มีสัดส่วนที่สูง และธุรกิจส่วนใหญ่ของ SMEs เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันซึ่งพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออก แนวโน้มฟื้นตัวอย่างฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตสูงซึ่งต้องพึ่งพิงทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งคาดว่าประเทศคู่ค้ากำลังทยอยปลดล็อกหลังโควิด-19 เช่นเดียวกัน ส่วน ภาคใต้ แนวโน้มจะกลับฟื้นตัวได้ช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งทิศทางราคาไม่ดีนักตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน

ชี้ผู้ประกอบการ SMEs เตรียมพร้อมและปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการฟื้นตัวของภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจอยู่ พร้อมแนะภาครัฐและเอกชนฟื้นเศรษฐกิจในประเทศให้เท่าเทียม โดยดึงจุดเด่นแต่ละพื้นที่เป็นจุดขาย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ชี้การมองเห็นภาพแนวโน้มธุรกิจ SMEs หลังปลดล็อกโควิด-19 ในแต่ละภูมิภาคว่า พื้นที่ใดจะมีทิศทาง “ฟื้นตัวเร็วช้า” ผ่านการวิเคราะห์ลักษณะธุรกิจและการพึ่งพิงตลาดที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs สามารถเตรียมพร้อม และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการฟื้นตัวของภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจอยู่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถฟื้นตัวแล้วหรือกำลังฟื้นตัว จำเป็นต้องเร่งจัดเตรียมการ วางแผนการตลาดให้พร้อม ในช่วงที่ภาครัฐเริ่มออกมาตรการออกมาช่วยเหลือธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก ย่อมจะช่วยให้ธุรกิจ SMEs กลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีธุรกิจ SMEs เข้าข่ายได้รับอานิสงส์ จำเป็นต้องทำงานมากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เช่น การหาช่องทางการทำตลาดไปยังภูมิภาคอื่นที่ฟื้นตัวแล้ว ก็จะพอช่วยได้บ้าง รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ “การฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs เชิงพื้นที่” ซึ่งประเมินจากทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจและการกระจุกตัวตามประเภทธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ อย่างไรก็ดี โจทย์ใหญ่สำคัญของประเทศในการเดินหน้าต่อไปคือ จะต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ทุกพื้นที่ของไทยเติบโตอย่างเท่าเทียมกันในยามที่ต้องพึ่งพิงการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการณ์กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยการพัฒนาจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ อาทิเช่น สินค้าเด่น วัตถุดิบของแต่ละพื้นที่ที่มี สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อให้ทุกภูมิภาคฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19 ในยามที่เศรษฐกิจต้องพึ่งการบริโภคในประเทศ เพื่อ “ให้ภาคธุรกิจ SMEs ของภูมิภาคต่างๆ ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น”