ท่ามกลางความหลากหลายของวิถีแห่งวัฒนธรรมไทย เกิดเป็นของดีของเด็ดของแต่ละท้องถิ่น นอกจากจะเป็นภูมิปัญญาที่สร้างอาชีพให้ชุมชนแล้ว เสน่ห์อันที่มีที่มาที่ไปเหล่านี้ ยังเรียกร้องให้เกิดการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อีกด้วย
และด้วยเอกลักษณ์ที่แตกต่างทางภูมิปัญญา บวกกับความสภาพแวดล้อมของแต่พื้นถิ่น ทำให้เกิดสินค้าที่มี “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ GI (Geographical Indications) ซึ่งเป็นเครื่องหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งในเมืองไทย ภายใต้การดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ปัจจุบันในประเทศไทย มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว 124 รายการ ใน 76 จังหวัด แต่ละจังหวัดก็มีของดีที่จัดว่าเด็ดไม่เหมือนที่ไหน จะลอกเลียนไม่ได้ เพราะต้องปลูกหรือผลิตในพื้นที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น นับเป็นการคุ้มครองอาชีพชุมชนและรักษามาตรฐานทางภูมิปัญญา และช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า พร้อมการกระจายรายได้ให้ชุมชน ต่อยอดไปถึงการท่องเที่ยว อาทิ ผ้าหม้อห้อมแพร่ โอ่งมังกรราชบุรี มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า กาแฟดอยตุง เป็นต้น
“กลองเอกราช” ซึ่งมีการผลิตที่หมู่บ้านทำกลอง ต.เอกราช อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เป็นผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 125 ที่จะเข้ามาเติมเต็มให้ประเทศไทย มีสินค้า GI ครบ 77 จังหวัด โดยปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการยืนขอจดทะเบียน และคาดว่าจะประกาศขึ้นทะเบียน GI ได้ภายในปีนี้
“กลองเอกราช” เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้มีความผูกพันกับเครื่องดนตรีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นแหล่งรวมศิลปะวัฒนธรรมทางภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นเพลงพื้นบ้าน ลิเก และวงปี่พาทย์มอญ
เดิมทีชาวบ้านจะทำกลองเพื่อใช้ในการละเล่นพื้นบ้านเอง แต่ปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นกลองรูปแบบต่างๆ ทั้งกลองเพล กลองยาว กลองที่ระลึก ซึ่งจะผลิตตามออร์เดอร์ให้ร้านค้าปลีก จนเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ระยะหลังจึงมีนักท่องเที่ยวมาขอเข้าและเลือกซื้อสินค้ากันถึงที่
เป็นอีกแง่มุมดีๆ ของเมืองอ่างทอง ซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามที่มีความงดงาม ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ชุมชนจักสานบางเจ้าฉ่า พิพิธภัณฑ์บ้านหุ่นเหล็ก ฯลฯ สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวถึงกันได้อย่างสะดวก
แถมยังเป็นจังหวัดที่มีความเงียบสงบ มีร้านอาหารและร้านกาแฟอร่อยๆ ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวที่ไม่แออัด เหมาะกับการท่องเที่ยวในช่วงคลายล็อกโควิด 19