กระทรวงสาธารณสุข ประกาศความสำเร็จ “ปัตตานีโมเดล” ปรับบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ แบ่งกลุ่มผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ใช้เทคโนโลยีให้คำปรึกษา พัฒนาเทคนิคบริการทันตกรรม ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ เป็นต้นแบบขยายผลไปยังจังหวัดอื่น
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แถลงข่าว “แนวทางการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal of Medical Services)” ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 สร้างผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์อย่างมาก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ปรับรูปแบบการให้บริการและบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งเน้นให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริมผนวกกับเครือข่ายที่เข้มแข็งของอาสาสมัครประจำหมู่บ้านที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1.4 ล้านคน ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด ภายใต้แนวคิด “การแพทย์วิถีใหม่” มีเป้าหมาย 3 ประการ คือความปลอดภัยสูงสุดทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย เพิ่มระยะห่าง ลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้นำร่องการแพทย์วิถีใหม่ตามโครงการ “ปัตตานีโมเดล” (Pattani Model) สร้างนวัตกรรมการแพทย์รูปแบบใหม่เพื่อใช้ในห้องทันตกรรม ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด และการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD (Non-Communicable Diseases) ให้ความสำคัญต่อการปรับรูปแบบการบริการทางการแพทย์ เช่น มีการพัฒนาเทคนิคลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย (Aerosol) พัฒนาเทคนิคทำฟันแบบประสานสี่มือ หรือ Four-Handed Dentistry ระหว่างทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ในการใช้เครื่องมือเพื่อลดการฟุ้งกระจายละอองฝอย
ส่วนห้องฉุกเฉิน ปรับบางส่วนเป็นห้องความดันลบ (Modify Negative Pressure Room) พัฒนาเทคนิคการทำหัตถการฟื้นชีพ ใส่ท่อหายใจอย่างปลอดภัย ห้องผ่าตัดปรับเป็นห้องความดันลบและสร้างมาตรฐานการคัดกรองโควิด 19 ก่อนทำหัตถการ และกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจะจำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีเขียว มีความเสี่ยงน้อย ควบคุมอาการได้ดี กลุ่มสีเหลือง มีความเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มสีแดง มีความเสี่ยงสูง ควบคุมอาการได้ไม่ดี ให้การดูแลตามหลัก “Share Care Plan” เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ร่วมกับการนำระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine) และอสม.ติดตามเยี่ยมบ้าน ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลมีเวลาให้การดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี เริ่มพบผู้ป่วยรายแรก 15 มีนาคม 2563 รายสุดท้าย 20 เมษายน 2563 รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 91 คน ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ 64 วันแล้ว ใช้โครงสร้างศูนย์บริหารจัดการโควิด 19 ระดับจังหวัดและอำเภอ บูรณาการทุกภาคส่วนในการตั้งด่าน ค้นหา คัดกรอง และจัดศูนย์กักตัว 176 ศูนย์ ได้ร่วมโครงการ “ปัตตานีโมเดล” ปรับระบบบริการการแพทย์วิถีใหม่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2563 ส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งการป้องกัน การรักษาโรคโควิด 19 และการดูแลโรคอื่นๆ ตลอดจนลดความแออัดการใช้บริการโรงพยาบาล และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดี ย่อมส่งผลให้สามารถประกอบอาชีพ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น สามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้