แพทย์แนะผู้ปกครอง ควรเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของลูกน้อยให้ปลอดภัย จากโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในฤดูฝน ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน โดยส่วนมากมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไวรัส RSV, ปอดบวม, หลอดลมอักเสบ, และ มือเท้าปากสาเหตุมาจาก การได้รับเชื้อมาจากคนและสัตว์ สำหรับอาการ ในส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย โรคติดเชื้อทางเดินหายใจไวรัส RSV มีอาการ น้ำมูกไหล คัดจมูก รับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้น 1-3 วัน จะมีอาการ ไอ มีไข้ หายใจลำบาก และอาจมีเสียงดังตอนหายใจอีกด้วย โรค มือ เท้า ปาก มีสาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดจากการสัมผัส สารคัดหลั่ง หรือ น้ำลายของผู้ป่วย มีอาการ คือ มีตุ่มแดงๆ หรือตุ่มน้ำ บนฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมถึงที่เข่าและก้น มีไข้สูง สังเกตได้จาก การที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร เพราะรู้สึกเจ็บแผลในปาก หรือ กระพุ้งแก้ม โรคไข้เลือดออก มีสาเหตุจาก ยุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการไข้สูงนำ หน้าแดงผิดสังเกตุ และมักพบอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องที่ชายโครง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว เป็นต้น
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคที่มา
ในหน้าฝน สามารถให้ผู้ปกครองดูแลลูกน้อยได้โดย การสวมหน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างสม่ำเสมอตาม 7 ขั้นตอน นอกจากนี้ การสวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น และการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายลูกมีภูมิต้านทานโรค เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงมีโอกาส ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย และที่สำคัญควรกำจัดน้ำขังในบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย อันเป็นสาเหตุหลักของไข้เลือดออกในหน้าฝนอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง และสังเกตลูกน้อย หากพบว่าไข้สูง 3 วัน อาการไม่ดีขึ้น หรือเด็กไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข เช่น กินไม่ได้ ซึมลงมาก นอนไม่ได้ หอบเหนื่อย หรือ กระสับกระส่าย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป