ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การปรับตัวให้ทันท่วงทีของผู้คน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตและความอยู่รอดปลอดภัย
โดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมการแพทย์ หนึ่งในการปรับตัวทางด้านวิทยาการทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย คือ การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งถือเป็นการแพทย์วิถีใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งการลดช่วงเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และบรรเทาความกังวลให้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลที่ต้องมาโรงพยาบาล
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลโดยตรงถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักขึ้น แนวปฏิบัติสำหรับการแพทย์วิถีใหม่ที่เราควรนำมาใช้มี 3 ประเด็น คือ 1. การจัดลำดับความเร่งด่วนในการรักษาหรือต้องมาพบแพทย์ เพื่อลดจำนวนครั้งที่ต้องมาโรงพยาบาล 2. การปรับวิธีการให้ยาให้สะดวกทั้งแพทย์และพยาบาลเพื่อลดเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด และ 3. การปรับการดูแลผู้ป่วยนอก ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษาและรักษามากขึ้น เช่น การทำเทเลเมดิซีน
ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าว “ในภาวะที่โรงพยาบาลมีทรัพยากรด้านบุคคลากรทางการแพทย์ที่จำกัด การรักษาด้วยยาชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังนี้ จึงไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสหรือติดเชื้อไวรัส แต่ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลามากขึ้นในแง่ของการปฏิบัติการ เพื่อดูแลผู้ป่วยรายอื่น ๆ ทั้งลดจำนวนการใช้เตียงและความแออัดในโรงพยาบาลลงด้วย
สมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป (ESMO) ยังแนะนำแพทย์มะเร็งทั่วโลกให้เตรียมพร้อมรับมือกับวิถีการรักษาแบบใหม่ ที่รวมไปถึงการทำเทเลเมดิซีนในการดูแลอาการและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อลดจำนวนครั้งในการมาที่โรงพยาบาล และหากเป็นไปได้ แพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังหรือยาชนิดรับประทาน แทนการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ
“การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง คือการฉีดยาระหว่างชั้นผิวหนังและกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ใช้ระยะเวลาในการรักษาแต่ละครั้งที่สั้นกว่าเมื่อเทียบกับวิธีการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ทั้งยังมีผลการศึกษาทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็งที่ยืนยันว่าการรักษาโดยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่าการรักษาโดยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ โดยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสำหรับโรคมะเร็งเต้านม ใช้เวลาเพียง 3.3 นาทีต่อครั้ง ในขณะที่การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำใช้เวลาในการฉีดยาประมาณ 40-90 นาทีต่อครั้ง” ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าว
นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลยันฮี กล่าว ผู้ป่วยบางรายที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง 1 ปี วิธีการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ช่วยประหยัดเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 13 ชั่วโมงต่อผู้ป่วยหนึ่งคน”3 สำหรับการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังก็สามารถช่วยลดระยะเวลาในการให้ยาของผู้ป่วยได้มากถึง 74%
“การรักษาด้วยวิธีการนี้ ใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างจากการให้เคมีบำบัดแบบปกติ คือมีหัวเข็มที่เล็กกว่า ซึ่งช่วยในเรื่องของความคล่องตัวระหว่างการให้ยา และยังช่วยลดความเจ็บปวด รวมไปถึงการลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าใต้หลอดเลือดดำด้วย ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในเมืองไทย และตอบรับกับมาตรการเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยได้เป็นอย่างดีในยุคโควิด-19” นพ.ชวลิต กล่าว
ศาสตราจารย์ ลี ซู ชิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา จากสถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ (NCIS) กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ป่วยในสิงคโปร์สามารถเลือกรับการรักษาที่ศูนย์พยาบาลใกล้บ้านได้แล้ว โดยการก่อตั้งโครงการ NCIS-on-the-Go ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทางสถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ นำทีมพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งออกให้บริการแก่ผู้ป่วยใกล้บ้าน เช่น การตรวจเลือด การให้ยา รวมถึงยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตามศูนย์ที่ทางสาธารณสุขกำหนดไว้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลดระยะเวลาการเดินทางมาโรงพยาบาล
ในขณะที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่ากับการให้บริการภายในโรงพยาบาล นอกจากจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยแล้ว การให้บริการแก่ผู้ป่วยใกล้บ้านยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถไปรับบริการที่ศูนย์พยาบาลใกล้บ้านของโปรแกรม NCIS-on-the-Go ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่ม
“ภาระของโรคมะเร็งในสิงคโปร์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และอุบัติการณ์ที่มากขึ้นของมะเร็งบางชนิด อย่างไรก็ตามการพัฒนาของการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยสามารถมีอายุที่ยืนยาวยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่สูงขึ้นในการดูแลรักษาโรคมะเร็งที่ครอบคลุม เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบาย”
โปรแกรม NCIS-on-the-Go นี้เกิดขึ้นเพื่อสนองต่อกลยุทธ์การพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความยั่งยืนของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยในประเทศ โดยเรามีแผนการที่จะเพิ่มสถานที่และขยายตัวเลือกการรักษาในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
“ยาบางชนิดสำหรับรักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่สามารถให้ได้ด้วยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง นับเป็นความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่สำหรับคนไทยและผู้คนทั่วโลก”ศาสตราจารย์ ลี ซู ชิน กล่าว