ความคิดที่ว่า “ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว” นับเป็นห้วงความคิดที่ไม่อยากให้ใครเข้าไปถึงจุดนั้น แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ท่ามกลางโลกที่ยังต้องดิ้นรน แข่งขัน ต่อสู้กับภาวะต่างๆ ทำให้มีผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงความคิดดังกล่าว
เมื่อเราได้ทำการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบว่า เมื่อค้นหาคำว่า “อยากตาย” กลับปรากฏคำค้นหาอีกหลายต่อหลายอย่างขึ้นมา ทั้ง ไม่อยากมีชีวิตอยู่, อยู่ไปทำไม, ชีวิตไร้ค่า, ไม่อยากอยู่แล้ว, อยากหายไปจากโลกนี้ หรือแม้กระทั่งการมองหาวิธีฆ่าตัวตายในรูปแบบต่างๆ ก็มีปรากฏให้เห็น
ที่มาของแนวคิดนี้ มาจากหลายสาเหตุ ทั้งความทุกข์ระทมเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่บอกตัวเองว่าไม่อาจรับได้ รวมทั้งภาวะป่วยไข้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุมาจากการฆ่าตัวตายเลียนแบบคนดัง (Copycat Suicide) ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า การฆ่าตัวตายเลียนแบบคนดังนั้น จะไม่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีความคิดฆ่าตัวตายมาก่อน แต่มีโอกาสจะเกิดขึ้นกับคนที่ฆ่าตัวตายอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้เห็นช่องทางหรือวิธีการที่จะฆ่าตัวตายได้มากขึ้น การบรรยายรายละเอียดที่มากเกินไป จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงในการสื่อสารผ่านสื่อ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว
ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายล่าสุด ของคนไทย ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน โดยช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด
พ่อแม่ผู้ปกครองหรือแม้แต่คนใกล้ชิด จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากลูกหลานหรือเพื่อนฝูง มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงก็ต้องใส่ใจ ซักถาม และทำความเข้าใจ เช่น ร้องไห้บ่อย เก็บตัว ไม่พูด เหม่อลอย บางครั้งจะพูดถึงเรื่องฆ่าตัวตาย บ่นไม่อยากมีชีวิต ชีวิตไม่มีคุณค่า เป็นต้น
อย่ามองว่านี่คือเรื่องของการพูดเล่นหรืออาการท้อแท้ในบางช่วงเวลา เพราะนั่นอาจทำให้การช่วยเหลือลดน้อยลงไป ความใส่ใจของคนใกล้ชิด จึงมีผลอย่างมาก ที่จะทำให้คนที่คิดฆ่าตัวตาย กลับมาสู่ภาวะปกติได้
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต แนะนำว่า การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ส่วนภาวะซึมเศร้าก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน หากเกิดภาวะซึมเศร้า คิดสั้น ทำใจไม่ได้ ให้พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่ง การปรึกษาจิตแพทย์ไม่จำเป็นว่าต้องป่วย ทุกคนสามารถปรึกษาเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้
หันมาใส่ใจคนข้างๆ ด้วยการรับฟัง พูดคุย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้เขารู้ว่าชีวิตยังมีคุณค่า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้า ทั้งที่รู้หรือไม่รู้ตัว สังเกตได้จากคนที่มักจะพูดน้อย สีหน้าวิตกกังวล สีหน้าหมองหม่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรืออาจจะเคยพูดเปรยๆ ว่าอยากได้ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ประสบปัญหาชีวิต
หากเขาเหล่านั้นยอมเปิดใจกับคนรอบข้าง ทุกข์ที่หนักถาโถมในใจอาจจะผ่อนคลายลงได้ หากยังไม่ดีขึ้นให้เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา โดยสามารถโทรมาปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ เราสามารถประเมินภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พร้อมรับแนวทางการช่วยเหลือได้ที่ แอพลิเคชั่น Sabaijai ดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งระบบ android และ ios
ใส่ใจคนรอบข้าง ทั้งที่อยู่ในภาวะปกติและไม่ปกติ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนจิตใจ ที่เราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับบางคน นั่นอาจจะหมายถึง การตัดสินใจด้วยอารมณ์ฉับพลัน ซึ่งนั่นหมายถึงการสูญเสีย อย่างที่เรียกคืนกลับมาไม่ได้ ดังที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีกเลย