ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากภัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบทั้งตกงาน รายได้ลด และสิ่งที่ตามมาซ้ำเติมในยามลำบากนี้ก็คือ “ภัยการหลอกลวง” ของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหากินกับการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาหลอกลวงผู้อื่นแบบไม่เกรงกลัวกฏหมาย ข้อมูลของ AppsFlyer เผยการหลอกลวงออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) นั้นมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 60 และที่น่าตกใจคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ถูกโจมตีมากที่สุดโดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม
นอกจากนี้ ผลสำรวจระดับโลกจาก Next Caller ผู้พัฒนาโซลูชั่นและเทคโนโลยีการตรวจจับการฉ้อโกงทางโทรศัพท์แบบเรียลไทม์ เผยว่า 37% ของชาวอเมริกันเชื่อว่าพวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงในเรื่องเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า และอีก 44% บอกว่าพวกเขารู้สึกว่าเสี่ยงถูกหลอกมากขึ้นเมื่อทำงานจากบ้าน (WFH) ในขณะที่ประเทศไทยทุกวันนี้ ดูเหมือนว่ายิ่งเราเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเราบนโลกออนไลน์มากเท่าไร ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีมาฉวยโอกาสจากเรามากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากข่าวการหลอกลวงออนไลน์มากมาย ตั้งแต่การหลอกสั่งซื้อของออนไลน์ หลอกลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หลอกชวนทำบุญบริจาค หลอกให้เงินกู้ หรือแม้กระทั่งสวมรอยเป็นคนรู้จักเพื่อหลอกขอยืมเงินที่พบกันประจำ เพราะมิจฉาชีพก็ปรับรูปแบบไปกับยุค New Normal ด้วยเหมือนกัน โดยสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนและพัฒนาทักษะการหลอกลวงให้เข้ากับยุคสมัย หวังล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวและจ้องฉกเงินจากกระเป๋าสตางค์หากเราไม่ทันระวังตัวด้วยกลโกงต่าง ๆ
โดย ทรูมันนี่ มีความห่วงใยและได้รวบรวมกลโกงในยุค New Normal มาเตือนภัยผู้ใช้เทคโนโลยีให้ระมัดระวังภัยออนไลน์ในยุค New Normal ที่ต้องเพิ่มความระวัง ดังนี้
1. เสนองานออนไลน์ (Job Offer Scam)
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.ท.อ.) เผยภาพรวมมีลูกจ้างในระบบได้รับผลกระทบจากพิษโควิดแล้วกว่า 3.3 ล้านราย หลายคนต้องมองหางานหรืออาชีพเสริมนอกเหนือจากรายได้ประจำ กลายเป็นโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีคิดกลโกงล่อลวงผู้ที่อาจจะกำลังตกงานหรือมองหางานเพิ่มเติมด้วยการเสนองานออนไลน์ที่ไม่มีจริง ล่อลวงด้วยการเสนอค่าตอบแทนจำนวนมากเกินปกติ หรือบางคนโดนหลอกให้ทำงานจนสำเร็จแล้วแต่กลับเจอการจ่ายเงินด้วยเช็คเด้ง กลโกงนี้อาจเริ่มต้นจากการส่งอีเมลมาเสนองานที่ไม่ตรงกับสายงานเรา หรืออาจจะเป็นโพสต์ชวนมาทำงานบนโซเชียลมีเดีย โดยใช้บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีมาโฆษณาชวนเชื่อ (บางกรณีอาจแอบอ้าง)
2. ลวงบริจาค (Charity Fraud Scam)
ด้วยวิถีการใช้จ่ายเงินที่เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบดิจิทัล ดังนั้นการจะไปทำบุญหรือบริจาคเงินวันนี้ทำได้ง่ายเพียงเข้าแอปฯ และโอน มิจฉาชีพพวกนี้อาศัยความใจอ่อน ขี้สงสาร และเห็นอกเห็นใจของคนไทยมาสร้างกลโกงเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง บางรายอาจสร้างข่าวดราม่าที่ไม่จริงและชวนบริจาค บางรายอาจสวมรอยเป็นหนึ่งในทีมงานของมูลนิธิหรือตัวแทนรับบริจาคในโครงการที่กำลังอยู่ในกระแส ดังนั้นเราควรเช็คข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีและตั้งสติก่อนโอน เพื่อให้เงินที่เราตั้งใจทำบุญไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการจริง ๆ
3. สวมรอยเป็นตัวแทนหรือผู้เชี่ยวชาญไอที (Repair Scams)
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ไอทีมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เมื่อบางออฟฟิศยังเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานกันแบบ Hybrid คือ สลับกันเข้ามาที่ออฟฟิศเพื่อเว้นระยะห่าง และลดความแออัดในสถานที่ทำงาน เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพสวมรอยเป็นผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทไอทีดัง ๆ มาหาเราตอน WFH เพื่อขอ Remote ตั้งค่าเครื่องต่าง ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งอาจมาในรูปแบบ email phishing หรือ call ตรงหาเหยื่อก็มี
4. ลวงเล่นพนันออนไลน์ (Fraud In Online Gambling)
ข้อมูลจากเครือข่ายเยาวชนเผยช่วงโควิด-19 พบจำนวนเว็บพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว และพบเห็นแบนเนอร์โฆษณาชวนเล่นพนันหรือเสี่ยงโชคออนไลน์จำนวนมาก อาทิ “เล่นเกมแล้วได้เงิน” หรือ “กักตัวไม่กลัวจน” แน่นอนว่าข้อความชวนเล่นพนันออนไลน์เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นไปสู่หายนะในชีวิต เพราะจากสถิติบอกว่าผลการเล่นพนันส่วนใหญ่ คือ กว่า 82% เสียมากกว่าได้ นอกจากนั้นเว็บเหล่านี้จะมีการซ่อนเทคนิคกลโกงต่าง ๆ เพื่อหลอกล่อให้ผู้เล่นตายใจคิดว่าโชคเข้าข้าง เมื่อถอนตัวไม่ทันก็จะต้องสูญเสียเงินก้อนโตไปในที่สุด และมิจฉาชีพพวกนี้ไม่เพียงแต่ได้เงินคุณไป แต่บางเว็บยังมีการขอข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชนเพื่อใช้สมัครเล่น เป็นต้น เมื่อข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในแวดวงการพนัน คุณก็จะได้รับข้อความเชิญชวนอยู่ตลอดเวลาผ่านทาง SMS ดังนั้นคิดให้ดีก่อนคลิกไปต่อกับข้อความชวนเล่นพนันออนไลน์เหล่านี้
เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้แก่ผู้ใช้ e-Wallet ในยุค New Normal ทรูมันนี่ขอเสนอแนวทางอยู่ให้รอดแบบ “ห่าง ปิด ติด จ่าย” ป้องกันง่าย ๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ดังนี้
• ห่าง – ห่างให้ไกลจากคนหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้ใจ ตลอดจนโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง อย่าเชื่อใจคนง่าย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งรู้จักกันผ่านออนไลน์ ควรวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับให้ดีก่อนคลิกไปต่อ
• ปิด – ปิดกั้นข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ อย่าให้ใครรู้ได้เป็นดี โดยเฉพาะรหัส OTP บัตรประชาชน บัญชีธนาคาร บัตรเครดิต/เดบิต หากไม่มั่นใจให้เช็คกับธนาคารหรือผู้ให้บริการโดยตรงก่อนเสมอ
• ติด – ติดตั้งแอปฯ พวกแอนตี้ไวรัส ศึกษาการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว และหมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดจากผู้ให้บริการโดยตรงเพื่อเสริมระบบความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ และตั้งคำถามหรือข้อสงสัยไว้ก่อนว่าคนที่แชทหรือโทรมาหาคุณนั้นเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม
• จ่าย – จ่ายเงินแต่ละทีต้อง “ตั้งสติให้ดี” ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน ทั้งชื่อผู้โอน จำนวนเงิน บัญชีดูน่าสงสัยหรือไม่ เช็คทุกครั้งที่ได้รับการแจ้งเตือน หรือตรวจเช็คกับเจ้าหน้าที่ผ่าน Call Center นอกจากนี้ ยังควรศึกษาการใช้งานฟีเจอร์ความปลอดภัยของแอปฯ e-Wallet ยุค New Normal เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์การยืนยันตัวตนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผู้ใช้, ระบบการยืนยันความถูกต้องในการทำธุรกรรม ทั้ง PIN 6 หลักและ OTP, Real-time notification ให้ผู้ใช้เช็คประวัติการใช้ได้ตลอดเวลา, ระบบความปลอดภัยสำหรับผูกบัญชีกับบัตรเครดิต/เดบิตต่าง ๆ อาทิ verified by VISA, MasterCard SecureCode และ J Secured จาก JCB และมี Customer Care ดูแลช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นผ่าน Live Chat และ Call Center เป็นต้น