เนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็ง สัตว์ปีกมีความเสี่ยงทำให้เป็นโรคเก๊า ปลาก็เหม็นคาว นมกินแล้วท้องเสีย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของการรับสารอาหารประเภทโปรตีนของคนไทย แมลงจึงเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ
ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารใหม่ (Novel Food) พบว่า “แมลง” มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม ซิงค์ วิตามินบี 2 บี 12 ในปริมาณสูง มี โอเมกา 3 6 9 รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียว ช่วยปรับสมดุลในลำไส้ นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายอีกกว่า 10 ชนิด
สำหรับแมลงที่มีอยู่นับล้านชนิด “ จิ้งหรีด” เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเลี้ยงจิ้งหรีดใช้พื้นที่ไม่มาก สร้างมลพิษน้อยมากมีเปรียบเทียบกับการสร้างโปรตีนจากสัตว์ในปัจจุบัน ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 45 วัน ก็สามารถนำมาบริโภค หรือแปรรูปได้ ตรงตามแนวคิดด้านนวัตกรรมอาหารชนิดใหม่ หรือ Novel Food ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หรือ เรียกได้ว่า “ดีต่อตัวและดีต่อโลก”
ปัจจุบันในประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด มากกว่า 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นระบบกึ่งเปิด ปิด หรือเปิดเป็นบ่อกลางแจ้ง หรือใต้ถุนบ้าน เป็นส่วนใหญ่ มีฟาร์มที่ได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อให้ผลิตผลได้มาตรฐานปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และคุณภาพถูกใจ” ประมาณ 30 แห่ง โดย 80% ของจิ้งหรีดที่ผลิตได้ทั้งหมด ยังคงขายเป็นตัว ราคากิโลกรัมละ 90 บาท นอกจากนี้ยังมีการนำจิ้งหรีดมาอบแห้ง บดเป็นผง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโปรตีนจิ้งหรีด นำมาเป็นส่วนผสมของเส้นสปาเก็ตตี้ พาสต้า และชงดื่ม หรือผสมกับอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ
แม้จิ้งหรีดจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ยังติดเรื่องภาพลักษณ์ และขั้นตอนการผลิต ซึ่งต้องการความสะอาด มาตรฐานในการเลี้ยง ปัจจุบันจึงมีการนำแมลงออกจำหน่ายในรูปแบบของผงโปรตีน ซึ่งได้รับความนิยมให้กลุ่มผู้ออกกำลัง ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ผงโปรตีนจิ้งหรีด 1 กรัม มีโปรตีน 70-82% ในปริมาณเท่ากัน ไก่มีโปรตีน 20% เนื้อหมู วัว มีโปรตีนไม่เกิน 40-50% ทั้งนี้ในแต่วัน คนเราต้องการโปรตีน น้ำหนัก x 0.8 กรัมต่อวัน ซึ่งนั้นหมายความว่า การบริโภคเนื้อ หมู ไก่ ในปริมาณที่มากกว่าเพื่อจะให้โปรตีนตามที่ร่างกายต้องการ
คณพล คุณดิลกกาญจน์ หรือ บูม ผู้ก่อตั้ง The Bricket หนึ่งในผู้ผลิตและพัฒนาแปรรูปอาหารจากจิ้งหรีด เปิดเผยกับ “The Balance ” ว่า บริษัท ได้รับความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมอาหารโดยมีจิ้งหรีดเป็นวัตถุดิบหลัก จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ภายใต้โครงการ Future Food Lab (FFL) โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาให้คำปรึกษาในการเลี้ยงและควบคุมคุณภาพจิ้งหรีด ด้านสูตรอาหาร เพื่อการแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรม บริษัทได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
โดยที่ผ่านมาบริษัทเปิดตัวด้วยไส้กรอกอนามัยที่ใช้ผงโปรตีนจิ้งหรีดแทนแป้ง ผสมกับเนื้อหมู และอื่นๆ การันตีคุณภาพด้วยผลวิเคราะห์โภชนาการจากห้องแล็บ กล่าวคือ ไส้กรอก 1 ชิ้นมีโปรตีน 10 กรัม เทียบเท่าไข่ไก่ 2 ฟอง ให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี่ มีโคเลสเตอรอลต่ำ 35 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับเนื้ออกไก่ล้วนในปริมาณที่เท่ากัน โซเดียม 360 กรัม ต่อชิ้น ลดต่ำกว่าไส้กรอกทั่วไปโดยเฉลี่ย 20%
“ ไส้กรอก เป็นอาหารที่ได้รับความนิยม รับประทานง่าย นำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย จึงช่วยสร้างการรับรู้ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ด้วยเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีหน้าตาคุ้นเคย ประกอบกับเทรนด์สุขภาพที่มาแรง พร้อมรางวัลต้นแบบธุรกิจสมัยใหม่ จากกระทรวงพาณิชย์ ที่รับรองมาตรฐานคุณภาพของสินค้า ”
อย่างไรก็ตามการผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ชนิดอื่นไม่ใช่เป้าหมายของ The Bricket บริษัทมีเป้าหมายในการผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปกลุ่ม Insect Based Meat หรือ อาหารที่ใช้แมลงเป็นวัตถุดิบหลักแทนเนื้อสัตว์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตใหม่ๆ อาทิ แฮม มีทโลฟ เนื้อเบอร์เกอร์ และแป้งสำหรับทำเบเกอรี่ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด โดย The Bricket เป็นสินค้าระดับพรีเมียม มีจำหน่ายหน้าร้าน ซอยนวมินทร์ 96 ร้านอาหาร Tastebud Cafe ศูนย์กีฬา Succor Pro ทุกสาขา และช่องทางออนไลน์ผ่านเพจ FaceBook :The Bricket