“มะเร็ง” โรคที่คนไม่อยากเป็น หากเป็นความเสี่ยงที่จะตายมีสูงเหลือเกิน แล้วถ้าเป็นขึ้นมาละ จะอยู่กับมันอย่างไร บทความพิเศษ The Balance ฉบับนี้ พาผู้อ่านไปรู้จักโรคมะเร็งผ่านชีวิตชาย-ชายคู่หนึ่ง ทั้งสองร่วมฝ่าฟันโรคร้ายนี้ด้วยสติและ “ความรัก”
เกือบ 3 ชั่วโมงของการสนทนาของพวกเรา สลับด้วยเสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้ของ “คนไข้” และ”คนดูแล” เป็นเรื่องราวที่มีทั้งสุข เศร้า สมหวัง สิ้นหวัง ความรัก และความเอื้ออาทรที่มีให้ระหว่างกัน สะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งความรักที่มีพลังมากเหลือเกิน มากพอที่จะดึงชีวิตคนป่วยคนหนึ่ง ที่กำลังเหนื่อยล้า ท้อแท้และสิ้นหวังออกมาจากโลกแห่งความตาย
อรรถพร ลีนะวัต และนครินทร์ ทองลา คือ คู่รักชาย-ชาย ที่ว่านั้น เมื่อปี 2559 ขณะนั้น อรรถพร อายุ 53 ปี พบว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็งจากการตรวจก้อนเนื้อที่ใต้คาง โดยพบเจ้าเนื้อร้ายที่ปลายปอดด้านขวา ขั้วปอด และใต้คาง ไม่นับรวมการกระจายของโรคที่กระดูกและสมอง รวมทั้งโรคลิ่มเลือดที่เกิดจากนอนติดเตียงถึงโรคโลหิตเป็นพิษ เป็นหนักและทรมานถึงขั้นว่า เจ้าตัวเคยสั่งเสียและวาดภาพงานศพของตัวเองไว้เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่นครินทร์ อายุ 40 ปี คู่รักของอรรถพร หนุ่มผู้มีพลังคิดบวกคนนี้ ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติชีวิตของตนเองเพื่อต่อกรกับโรคร้าย ปกป้องชีวิตคนรัก ทำตั้งแต่หาข้อมูลจาก Medical Journals ของฝรั่ง อ่านทุกอย่างที่เกี่ยวกับมะเร็งให้เข้าใจโรคมะเร็งให้ดีที่สุด เพื่อนำมาพูดคุยกับหมอและร่วมหาทางออกให้กับคนรัก
“ชีวิตคู่เกย์ที่ทุกคนมองว่าฉาบฉวย ไม่เหมือนคู่ผู้ชายผู้หญิง อาจไม่เป็นจริงเสมอไป” นครินทร์ เปิดประเด็นพูดคุยกับพวกเรา
มะเร็ง vs ความรัก
บางคนเปรยว่า ความรักของระหว่างชาย-ชายเป็นความรักที่ไม่ยั่งยืน แต่ความคิดนั้นใช้ไม่ได้กับคู่นี้ อรรถพรกับนครินทร์ ครองรักกันมากว่า 20 ปีแล้ว ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ในปี 2548 หลังที่ดูใจกันมาเป็นเวลา 7 ปี ทั้งคู่ตั้งกติกาการใช้ชีวิตร่วมกันว่า ถ้าทะเลาะกัน มีปัญหากัน วันรุ่งขึ้นต้องลืมให้หมด เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถือเป็นไบเบิ้ลของการใช้ชีวิตที่ทั้งคู่ยึดถือเรื่อยมา ทำให้ชีวิตอยู่กันอย่างมีความสุขและยั่งยืน
แต่ความรักที่เรียบง่ายของพวกเขาก็มาถูกท้าทาย เมื่อวันหนึ่ง อรรถพรพบก้อนเนื้อใต้คาง ต่อมาได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่า เป็น “เซลล์มะเร็ง” และนั่นคือ จุดเปลี่ยนของชีวิตทั้งคู่
ในเดือนมีนาคม 2559 อรรถพร พบก้อนเนื้อขึ้นที่ใต้คาง มีลักษณะเหมือนคางทูม ไม่รู้สึกเจ็บอะไร คิดว่าเป็นก้อนซีสธรรมดา ที่มั่นใจเช่นนั้นเพราะว่าไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เขาเองเพิ่งไปตรวจร่างกายที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติมาและไม่พบความผิดปกติอะไร แต่พี่สาวและแม่ของนครินทร์รู้สึกผิดสังเกต จึงบอกให้รีบให้ไปตรวจอีกครั้งที่สถาบันเดิม โดยในวันที่ 27 เมษายน 2559 ก็เข้ารับการตรวจ และผลการตรวจออกมาว่า เป็นเซลล์มะเร็ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งอะไร ซึ่งแพทย์เองก็งงว่า เป็นไปได้อย่างไรเพราะเดือนกุมภาพันธ์ก่อนหน้าที่เข้ามาตรวจก็ไม่พบก้อนเนื้อนี้ จากนั้น แพทย์สั่งทำแสกนเอ็มอาร์ไอช่วงบนหน้าอกทั้งหมดและพบเจอเซลล์มะเร็ง 3 จุดคือ ยอดปอดขวา ขั้วปอด และต่อมน้ำลาย ถือว่าเป็นโรคมะเร็งระยะที่ 4
ผลการวินิจฉัยตรงกับการเข้าตรวจที่โรงพยาบาลประกันสังคมแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว แพทย์นัดให้เขาฟังผล 3 ครั้ง แต่ก็เลื่อนทั้ง 3 ครั้ง หมอบอกแบบไม่มีเยื้อไยและไม่คำนึงถึงจิตใจคนไข้เลยว่า เขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งเขาฟังแล้วถึงกับตกใจสุดขีด จนทำอะไรไม่ถูก “เดินร้องไห้จากโชคชัย 4 มาถึงบ้าน”
“มีโอกาสตาย พี่ทำใจแล้ว ร้องไห้ รู้ว่าตายเพราะอะไร เอ็ม (ชื่อเล่นนครินทร์) ก็บอก ยังไม่ตาย คุยกันจนถึงเรื่อง ดอกไม้สีอะไร ทำงานศพเอาไว้ เผื่อทำอะไรไม่ทัน” อรรถพร ย้อนความให้ฟัง
ด้วยปัญหาที่หนักหน่วงและทางออกก็ดูมืดมน สติของทั้งคู่กระเจิดกระเจิง สิ่งที่ทำตอนนั้นคือ นอนกอดกันร้องไห้ 1 เดือนเต็มๆ ก่อนที่จะรวบรวม “สติ”และ “พลัง” กลับขึ้นมาต่อสู้ได้ นครินทร์บอกว่า หากร้องไห้ต่อ มันก็ไม่หาย ดังนั้น ถ้าอยากจะหาย ก็ต้องไปหาหมอ ทั้งสองคนจึงเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที โดยนครินทร์ตั้งมั่นว่า จะเป็นเสาหลักให้พี่อรรถพรยึดและจะไม่ปล่อยให้คนป่วยไปโรงพยาบาลคนเดียวอย่างเด็ดขาดอีกต่อไป “เพราะรู้สึกว่า ดีหรือไม่ดี เวลาฟังข่าว เวลาอยู่คนเดียว ไม่มีคนช่วยคนไข้ แต่เราเป็นคนดูแล คนมีสติต้องเป็นเรา ไม่ใช่คนป่วย”
นครินทร์ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติชีวิตตัวเองทันทีเช่นกัน เริ่มที่การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งทั้งหมดจากหนังสือ งานวิจัยและบทความทางการแพทย์ต่างๆ เตรียมข้อมูลที่หาได้ไปคุยกับหมอ เพื่อหาทางดูแลคนรัก จากนั้น การเดินหน้ารักษาของอรรถพรก็เริ่มต้น พวกเขาไปพบแพทย์ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 7 โมงเช้า แต่ได้พบแพทย์ตอน 4 โมงเย็น หมอเรียกเข้าพบเป็นคนสุดท้าย ซึ่งเป็นความตั้งใจของแพทย์เองและให้เวลาถึง 1 ชั่วโมงอย่างเต็มที่ เพื่อคุยเกี่ยวกับการรักษาทั้งหมดกับคนป่วยอย่างละเอียด ซึ่งหมอก็ให้กำลังใจว่า “การที่หมอท่านหนึ่งตัดสินว่าคนไข้อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน เอาอะไรมาตัดสิน การรักษายังไม่ได้เริ่มเลย ต้องรักษากันก่อน และการรักษา ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยราคาสูง แต่จะใช้ระยะเวลายาว”
“รอ 7 ชั่วโมง กูตายก็ตายเถอะ ไม่ไหวละ เพราะขี้เกียจนั่ง เมื่อย” อรรถพร หัวเราะดังลั่น เล่าถึงความรู้สึกการรอในวันนั้นด้วยอารมณ์ขัน
แต่การรอนั้น ก็ไม่เสียเปล่าเลย และพวกเราถามต่อทันที พี่รู้สึกอย่างไร พี่ว่า จะรอดได้ไหม? พี่อรรถพร ตอบด้วยเสียงสั่นเครือ พร้อมกับหยุดและร้องไห้ว่า เป็นเหมือน “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”
สำหรับนครินทร์ก็มีความมั่นใจมากเช่นกัน ข้อมูลที่เขาได้รับจากแพทย์มา พอสรุปได้ว่า สภาพคนไข้ไม่ได้นอนเปลมา ยังเดินได้ มีสติ พูดรู้เรื่อง มะเร็งที่เจอมันอยู่ในร่างกาย แต่ไม่ได้ทำลายอวัยวะต่างๆไปหมด นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษามากมาย อย่างยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่มีเป็นพันชนิด
หลังเริ่มเข้ารับการรักษาด้วยยามุ่งเป้า อรรถพรหนึ่งก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ อย่างต่อมน้ำลาย ไม่ได้ผ่าตัด ยุบเองเพราะเกิดจากการทานยา ในขณะที่ปอดใช้วิธีฉายแสง ร่วมกับทานยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ราคา 60,000 บาท มี 28 เม็ด ใช้ได้ 1 เดือน ทานแล้วก้อนเนื้อใต้คางเริ่มยุบ แสดงว่า ร่างกายตอบสนอง ทานได้ 6 เดือน หมอนัดทำเอ็มอาร์ไออีกครั้ง (ยาที่กินทำให้เซลล์มะเร็งยุบทั้ง 3 จุด โดยไม่มีผลกระทบกับอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย) โดยเฉพาะที่ปอดได้รับการฉายรังสีที่โรงพยาบาลรามา (ใช้สิทธิ์ประกันสังคมของโรงพยาบาลเลิดสิน โดยแพทย์ผู้รักษาเขียนใบส่งตัวเพื่อการรักษา) ซึ่งเป็นเครื่องมือทันสมัยมาก ไม่ทำลายส่วนอื่นในปอด เห็นภาพปอด 4 มิติ เห็นอยู่ข้างใน ฉายเสร็จ ค่ามะเร็งลงฮวบ แต่ต้องทานยาร่วมด้วย
ติดตามทุกๆ 3 เดือน จนขึ้นปีที่ 2 ค่ามะเร็งขึ้นอีกครั้ง แสดงว่าเซลล์มะเร็งต้องกลายพันธุ์ และดื้อยามุ่งเป้า แล้วขยายไปสู่อวัยวะอื่นๆ หมอจึงจับมาแสกนใหม่ คราวนี้ร่วมกับการแสกนกระดูกและพบเซลล์มะเร็งที่กระดูกสะโพกขวากับที่ไหล่ซ้าย จึงต้องเปลี่ยนยามุ่งเป้าตัวใหม่ มีสนนราคากล่องละ 8 หมื่น คุณหมอแนะนำให้ฉายรังสีพร้อมกันไปเลย จึงทำการฉายรังสีรักษาที่กระดูกสะโพกก่อน เพราะเป็นจุดสำคัญ (ก่อนจะใช้ ต้องรู้ว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน รายละเอียดต่างๆ ส่งเลือดไปตรวจที่แลป ตรวจกระทั่งว่าดีเอ็นเอของพี่หนึ่งมีมะเร็งกลายพันธุ์กี่ชนิด)
ยาตัวใหม่ทานเดือนแรก อรรถพรก็มีอาการดีขึ้นทันที ทานเป็นเวลา 11 เดือน กระดูกที่หัวไหล่และสะโพกบรรเทาอาการปวดลง ปอดก็ไม่ปัญหา ยาที่กินและฉายรังสีเอาอยู่ มีเหมือนแผลเป็นในปอด จากนั้น ก็พักทานยา 6 เดือน อรรถพรได้ชีวิตมาอีกครั้ง กลับมาใช้ชีวิตปกติ แข็งแรงมากจนกระทั่งสามารถกลับไปวิ่งมาราธอนระยะ 10 กิโลเมตรได้อย่างสบายๆ
“ไม่ห่วงเรื่องตายแล้ว หมอบอก ไม่ต้องกลัว โรคนี้ตายยากจะตาย” นครินทร์เล่าแทนความรู้สึกของคนรักให้ฟัง พร้อมอธิบายเพิ่มว่า เหมือนหมอพูดเชิงให้กำลังใจว่า โรคมะเร็งไม่ได้เป็นโรคประหลาดอะไร
“การรักษาตลอด 4 ปีพบว่า เซลล์มะเร็งของพี่หนึ่งแพ้แสงรังสี แต่จะดื้อยา ดังนั้น การฉายรังสีจะฆ่าได้ดีที่สุด” นครินทร์ อธิบายเพิ่ม
ทว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีทีแล้ว เหมือนยามันหมดฤทธิ์ที่ตรงนั้น ค่ามะเร็งก็ขึ้นอีกครั้งแต่ไม่สูงมาก หมอแนะนำให้ฉายรังสีที่หัวไหล่ เพราะอรรถพรปวดมาก แม้มันยังไม่มีเชื้อ แต่ก็ป้องกันเพื่อไม่ให้ขยายวงกว้าง การฉายรังสีก็เพื่อควบคุมมันให้อยู่หมัด แต่ระหว่างการรักษานั้น อรรถพรกลับไม่มีแรง แขนขาหมดแรง ขยับตัวไม่ได้ มีอาการปากเบี้ยว หมอทำการสแกนและพบว่า มีก้อนมะเร็งเกิดที่สมอง มันขึ้นไปที่สมองจากหัวไหล่และแนะนำให้ฉายรังสีทั้งสองส่วนควบคู่กันไป การฉายรังสีเริ่มวันที่ 2 ตุลาคม สิ้นสุดวันที่ 16 ตุลาคม ตรงกับวันเกิดของอรรถพรพอดี และวันรุ่งขึ้น หมอก็ให้กลับบ้านได้และให้ทานยามุ่งเป้าตัวใหม่ควบคู่กันไป
อรรถพรได้ชีวิตกลับมาอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
เพราะรัก ถึงต้องสู้
เหนื่อยไหม? พวกเราอดไม่ได้ ที่จะถามนครินทร์ถึงความรู้สึกนั้น เพราะการดูแลคนรักมาหลายปี เป็นงานที่ไม่ง่ายเลยและไหนจะต้องเจียดเวลามาดูแลชีวิตของตนเองและงานประจำที่ต้องทำในแต่ละวัน เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในชีวิตและรักษาคนรัก
“เหนื่อยจนร้องไม่ออก ขับรถไปทำงานคุยโทรศัพท์กับแม่ตลอด มาวันหนึ่ง เหนื่อยมากจนอยากทิ้งตัว อยากปล่อยพวงมาลัยให้มันไปของมันเอง มันอยู่ข้างในมาตลอด 3 เดือนต้องทำทุกวัน โทรศัพท์คุยกับแม่ ไม่ได้คุยอะไรเลย แม่บอกว่า เป็นอะไร? อีกวัน แม่มาหา มากอดลูก มีคนเดียวที่ทำให้เราหายเหนื่อยได้” นครินทร์ตอบ พร้อมน้ำตาไหลพราก
ผลจากการดูแลคนรัก นครินทร์ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง น้ำหนักลงไป 10 กิโลกรัม พร้อมกับมีอาการชาที่ขา นอนไม่หลับ กลายเป็นคนป่วยไปอีกคน และไม่รู้เกิดจากอะไร ท้ายสุด เพื่อนบอกว่า เพราะไม่ได้ดูแลตัวเอง นอนไม่พอและความเครียดสะสม (ปัจจุบันหายแล้ว)
ระหว่างที่นครินทร์ดูแลคนรัก ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา เขาต้องจ้างพยาบาล 2 คน แม่บ้านอีกหนึ่งคน ค่าจ้างพยาบาลราว 6 หมื่นต่อเดือน (ค่าใช้จ่ายรักษาอรรถพรเคยมากถึงหลายแสนบาทติดต่อกันหลายเดือน) เมื่ออรรถพรกลับมาอยู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ผลจากการฉายแสงทำให้เขามีอาการสมองบวม ขยับตัวไม่ได้ นอนติดเตียงนานทำให้เกิดลิ่มเลือดที่ขา ต้องรักษาโรคลิ่มเลือด อาการสมองบวมหลังฉายแสง ต้องกินยาสเตียรอยด์มาตลอด 6 เดือน และผลข้างเคียงของการทานยาชนิดนี้นานๆก็คือ ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ จึงทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด พยาบาลทั้งสองทำงานกลางวัน อาบน้ำ กินข้าว จัดยา ฉีดยา ทำกายภาพให้อรรถพร ขณะที่นครินทร์ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และหลังเลิกงาน ภารกิจนั้นนครินทร์จะเป็นคนทำแทน
ปัจจุบันนี้ นครินทร์ไม่ต้องจ้างพยาบาลอีกแล้ว เพราะคนรักของเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และอาการดีขึ้นทุกอย่าง
เมื่อถามว่า อรรถพรดีขึ้นมามากเพราะอะไร? นครินทร์บอกว่า หลายอย่างเลย อย่างแรกคือ กำลังใจจากคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว และเพื่อน ๆ ทุกคน คนไข้เป็น “นักรบ” เขาเป็น “คนดูแล” คนรอบข้างส่งกำลังใจให้ตลอด และสอง คือ วินัยของการดูแลตัวเองของทั้งคู่ อรรถพรมีวินัยในการกินยา อยากหายต้องกินยา ส่วนนครินทร์มีหน้าที่เตรียมการ จัดหาสิ่งจำเป็นต่อการรักษาทุกอย่างให้พร้อม ทั้งยา อาหาร คนดูแล ตารางการพบแพทย์ ทุกคนมีบทบาที่ต้องทำ
แล้วอนาคตละ? พวกเราถามต่อ นครินทร์บอกว่า “ส่วนตัวเขามองความสุขวันต่อวัน ไม่มองไกลแล้ว ตื่นมาเช้า หันไปทางซ้ายเห็นอรรถพรนอนอยู่ข้างๆ มีชีวิตพอละ” ขณะที่อรรถพรบอกว่า “เอ็ม (ชื่อเล่น) พูดอะไรให้ทำก็ทำ เพราะไม่อยากหวังไกลมาก โรคนี้ก็รู้อยู่ ก็ฝันอยากจะขายของ เมื่อก่อนเคยวางอนาคตไกล แต่ตอนนี้ไม่ละ”
โรคนี้ยังสอนให้ทั้งคู่อีกว่า “ไม่ต้องหวังไกล เอาเวลามาดูตัวเอง ทำให้มีความสุขแต่ละวันพอแล้ว ความสุขอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่อนาคต”