“หมอ-พยาบาล” บอกเล่าก้าวตาม “ศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาทุกวิกฤต”

342

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เรื่องของการกินอยู่อย่างพอเพียง สร้างแหล่งอาหารของตัวเองได้รับการหยิบยกมากล่าวถึงและปฏิบัติกันเป็นรูปธรรม ตอกย้ำความหมายของ “ศาสตร์พระราชา” ที่สามารถ “แก้ปัญหาทุกวิกฤต”

หากมองในแง่สุขภาพ พบว่า ปัญหาสุขภาพมีรากฐานจากสังคม เช่น  ปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นการกินสะสมพิษเข้าสู่ร่างกาย เราจึงเห็นกันบ่อย ๆ ว่า คนที่คิดว่าดูแลตัวเองดี เลือกกินผักเป็นประจำ แต่สุดท้ายกลับเจอกับโรคร้าย

ประเด็นเหล่านี้ เราได้รับฟังจากคุณหมอและพยาบาล หนึ่งใน “คนมีใจ” ที่มาร่วมพลังในโครงการ  “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุดโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 8 จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ระดมอาสาสมัครกว่า 200 คน สร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล พื้นที่เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการฟื้นฟูลุ่มนํ้าป่าสักและลุ่มนํ้าชี ณ ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ศูนย์เรียนรู้ที่รวบรวมคนมีใจ และมีความรู้ด้านหลักกสิกรรมธรรมชาติ มาถ่ายทอดความรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการดําเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวชัยภูมิ พร้อมวางมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) โดยมีพลังสำคัญในการนำทัพแห่งการสร้างสรรค์ อย่าง ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด เข้าร่วมกิจกรรม

นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต (หมอนิค) นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลหนองบัวระเหว ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติหนองบัวระเหว ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ และศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม เล่าว่า  หลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เลือกทำงานใช้ทุนและเรียนต่อในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน เป็นการมองคนไข้แบบองค์รวมว่าครอบครัวมีผลต่อโรคอย่างไร พบว่าต่างจังหวัดขาดแคลนหมอมากกว่า จึงมาทำงานชุมชนโดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้สุขภาพของชุมชนดีจากพื้นฐาน ซึ่งพบว่าปัญหาสุขภาพมีรากฐานจากสังคม เช่น ในชัยภูมิมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัญหาความยากจนที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวออกไปทำงานที่อื่นแล้วส่งลูกกลับมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เกิดเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่ในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก

“หมอนิค” จึงตัดสินใจศึกษาและลงไปพัฒนาชุมชนด้วยศาสตร์พระราชา ซึ่งตอบโจทย์ 3 ประการคือ เรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่น โดยร่วมกับจิตอาสาจากหลายภาคส่วน ต่อมาได้มาร่วมก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันทำ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับเรียนรู้และจัดฝึกอบรม ที่ผ่านมามีผู้มาเข้ารับการอบรมไปแล้วหลายรุ่น การเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ จะมีการปรับพื้นที่ใหม่ให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการออกแบบพื้นที่ให้ศูนย์ฯ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และเหมาะสมกับกำลังคนที่มีอยู่น้อยเพราะทุกคนมีงานประจำ

นางปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม และเจ้าของ “สวนฝันสานสุข” จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า  จากประสบการณ์ทำงานส่งเสริมสุขภาพชุมชนทำให้พบว่า การรักษาพยาบาลเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากปัญหาสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต เช่น การใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมีผลกับสุขภาพ ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ส่งผลให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า ต่อมาได้มาเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชาและแนวทางกสิกรรมธรรมชาติจากอาจารย์ยักษ์และอาจารย์โจน จันใด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จึงรวบรวมคนมีความรู้มาทำงานร่วมกัน แจกจ่ายความรู้เรื่องสุขภาพ หยิบเรื่องสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ รวบรวมสูตรยาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย นำเรื่อง “สมุนไพรอินทรีย์” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต

นอกจากนั้นยังทำ ‘สวนฝันสานสุข’ ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งอาหาร ให้คนมาเรียนรู้ จ้างชาวบ้านมาช่วยงานเพื่อสอนเขา ซึ่งเขาเอาความรู้กลับไปทำที่บ้าน ในการทำศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตาม มีหน้าที่รวบรวมคนจากหลากหลายอาชีพ เป็นผู้ต่อจิ๊กซอว์ที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ

นอกจากการนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาทางสังคมแล้ว “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ได้อธิบายว่า จ.ชัยภูมิเป็นสถานที่จัดกิจกรรมว่า “จ.ชัยภูมิ เป็นธนาคารน้ำของภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำชี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ น้ำฝนจะไหลลงแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำชี แล้วไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ แล้วไหลลงแม่น้ำโขงที่อุบลราชธานี ด้วยเหตุนี้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำจึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ

สำหรับ “ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม” เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 โดย “นายณรงค์ วุ่นซิ้ว” ผู้ว่าราชการ จ.ชัยภูมิ ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต) ได้ซื้อที่ดินจำนวน 11 ไร่เศษ ใน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ พร้อมชักชวนผู้รู้และคนมีใจหลากหลายอาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ครู ข้าราชการ เกษตรกร ร่วมกันก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม ที่บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา ต.บ้านเล่า อ.เมือง ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้คนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ เน้นการฝึกอบรม เพื่อผลักดันองค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชัยภูมิได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าเก้าตาม ได้แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำนาแบบดั้งเดิม การเลี้ยงปลาในนาข้าว การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และระบบการกักเก็บน้ำในสระไม่ให้ไหลซึมหายไปในช่วงหน้าแล้ง เป็นต้น

การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ทั้งต้นน้ำป่าสักและต้นน้ำชี อีกทั้งเป็นการนำเสนออีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการร่วมมือร่วมใจของภาคีเครือข่ายคนมีใจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปไม่รู้จบ