อพท. ยกแหล่งท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก ตามมาตรฐาน Top 100 ประเดิมส่งชิง 2 แหล่งปีนี้ ในเวียง กับ เชียงคาน เป้าหมายเพิ่มอีก 4 แหล่งภายใน 5 ปี ย้ำมาตรฐานดังกล่าวคือความยั่งยืนที่จับต้องได้ และจะนำไปสู่ช่องทางการตลาดดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพให้มาเยือน
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ในปี 2563 อพท. ได้เตรียมส่งแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ 2 แหล่ง คือเทศบาลตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อเข้าชิงรางวัล Sustainable Destinations Top 100 หรือ Top 100 ภายในปี 2565 โดยการจัดอันดับดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สุด แสดงถึงความสำเร็จจากผลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอีก 4 แห่ง ที่ อพท. จะพัฒนามาตรฐานเพื่อส่งเข้ารับการจัดอันดับ Top 100 ในระยะต่อไป ได้แก่ นาเกลือ ในเขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย เกาะหมาก จังหวัดตราด และตำบลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
“ที่ผ่านมาประเทศไทยและต่างประเทศมักพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถจับต้องได้ว่าความยั่งยืนนั้นเป็นอย่างไร หรือมีเกณฑ์อะไร มีเพียงคำพูดลอยๆ ที่เป็นนามธรรม แต่ Top 100 จะมาตอบข้อสงสัยนี้ได้ เพราะ Top 100 จะมีเกณฑ์การวัดที่ชัดเจน ว่าแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าข่ายได้รับการจัดอันดับนี้จะต้องผ่านเกณฑ์ใดบ้าง โดยจะวัดผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่น หากต้องการทราบว่าในขณะที่มีงบประมาณ ทรัพยากร และเวลาอันจำกัด เราจะต้องจัดลำดับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างไร”
สำหรับประโยชน์ในเชิงการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดอันดับ Top 100 คือ ได้สร้างการรับรู้ในแบรนด์ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นในตลาดต่างประเทศ เช่น หากแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท. ส่งเข้าชิงได้รับการจัดอันดับ Top 100 ทางผู้จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ITB จะนำแหล่งท่องเที่ยวนั้นทำการตลาดให้ฟรีผ่านเครือข่ายสมาชิกของ ITB ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยคัดเลือกนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายต่อทริปสูง อีกทั้งภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยในด้านความยั่งยืนก็จะดีและได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับสากล เพราะการจัดอันดับดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพพอที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าคุณภาพ เพราะมีการกระจายรายได้เพียงพอให้คนท้องถิ่น มีการปกป้องประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิต และปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ผู้ไปเที่ยวก็สบายใจ ชุมชน ประชากรที่อาศัยในแหล่งท่องเที่ยวก็สบายใจ ซึ่งทั้งหมดคือเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้ประเมินแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ได้รับการจัดอันดับดังกล่าว
นอกจากนั้นแผนการผลักดันแหล่งท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่การจัดอันดับ Top 100 ของ อพท. ยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศท่องเที่ยว เพราะคำว่านิเวศในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าระบบนิเวศธรรมชาติ แต่หมายถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ทั้งในเรื่องภูมิทัศน์ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การปกป้องวัฒนธรรม การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รวมไปถึงกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในเกณฑ์ของ Top100 ทั้งหมด
อย่างไรก็ตามแนวความคิดการจัดอันดับ Sustainable Destinations Top 100 เกิดขึ้นจากความต้องการรับผิดชอบต่อภาคการท่องเที่ยวของคณะผู้จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ITB เพราะที่ผ่านมาจะมุ่งแต่การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จนลืมนึกถึงความยั่งยืน จึงได้หารือกับหน่วยงานที่มีชื่อว่า Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอแลนด์ พร้อมตกลงกันว่าในแต่ละปีที่มีการจัดงาน ITB ควรที่จะสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการที่ดีและมีความยั่งยืน จึงร่วมกันกำหนดเกณฑ์การพิจารณาจำนวน 30 ข้อใน 6 หมวด ได้แก่ การจัดการแหล่งท่องเที่ยว ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทิวทัศน์ ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านความเป็นอยู่ทางสังคม ด้านธุรกิจและการให้บริการ โดยแหล่งท่องเที่ยวที่จะได้รับการจัดอันดับต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 15 ข้อ โดยจะประกาศผู้ได้รับรางวัล Top 100 ในงาน ITB กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี