“การใช้ยาเคมีบำบัด” เป็นแนวทางการรักษาโรคมะเร็งที่หลายคนคงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ เคมีบำบัดถือเป็นหนึ่งในแนวทางหลักของการรักษาโรคมะเร็ง เป็นวิธีการที่ใช้ยาเคมีเข้าไปทําลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยมีวัตถุประสงค์หลายด้าน เช่น เพื่อการรักษา เพื่อการควบคุมไม่ให้มะเร็งแพร่กระจาย และเพื่อบรรเทาอาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การทำเคมีบำบัดจะต้องมีการวางแผนการรักษาตามขั้นตอน เพื่อให้ผลของการรักษามีประสิทธิภาพและผู้ป่วยได้รับผลประโยชน์สูงสุด เบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกาย เพื่อพิจารณาปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการทำเคมีบำบัดและเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยพร้อมที่จะได้รับการรักษาตามสภาวะของแต่ละบุคคลหรือไม่ เช่น ประเภทของมะเร็ง ขนาดหรือตำแหน่งการเกิด อายุของผู้ป่วย และผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วย การทำเคมีบำบัดอาจใช้ยาชนิดเดียวหรือใช้ยาจากหลายกลุ่มร่วมกันแล้วแต่กรณี
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การทำเคมีบำบัดอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตบ้าง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการรักษาจะช่วยบรรเทาความเครียด รวมไปถึงลดผลกระทบทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความวิตกกังวล รวมไปถึงแจ้งแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรเพราะอาจไปลดประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าการให้ยาเคมีบำบัดนั้นจะไม่ได้ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงที่เซลล์มะเร็งเพียงอย่างเดียว แต่อาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติทั่วไปและการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงอีกด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ เบื่ออาหาร ภูมิต้านทานต่ำ เหนื่อยง่าย ท้องเสีย ผมร่วง และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณและชนิดของยาเคมีบำบัดที่ใช้ ความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วยแต่ละราย ตลอดจนความพร้อมด้านจิตใจของผู้ป่วยเอง อย่างไรก็ตามอาการจากผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงเวลาที่กำลังได้รับยาหรือหลังได้รับยาในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรหมดกำลังใจในการต่อสู้กับโรค