โรงเรียนขนาดเล็กตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา และมีภูเขาล้อมรอบ ห่างไกลจากตัวเมืองจังหวัดกำแพงเพชรออกมาประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ”โรงเรียนบ้านพรหมมาสามัคคี” ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เปิดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีบุคลากรครู 12 คน จำนวนนักเรียน 147 คน เป็นเด็กไทย 79 คน ชนเผ่าอิ้วเมี่ยนหรือเย้า 25 คน และชนเผ่าล่าหู่หรือมูเซอ 43 คน ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ฐานะค่อนข้างยากจน ด้วยบริบทสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่และอาชีพของคนในพื้นที่ที่มีอาชีพรับจ้างทำไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ซึ่งรายได้ไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม เด็กนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ มีโอกาสเข้าถึงและได้บริโภคไข่ไก่ โปรตีนคุณภาพที่มีราคาไม่แพง หลังจากที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เตรียมรับแม่พันธุ์ไก่ไข่อีก 100 ตัว สู่การเลี้ยงเป็นรุ่นที่ 4 เป็นโครงการที่ส่งเสริมเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล ได้บริโภคไข่ไก่เพื่อบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการ ภายใต้ความร่วมมืออย่างยาวนาน โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายเแดน (ตชด.) และเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ ดำเนินการโครงการมาตั้งแต่ปี 2532 เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและขยายผลสู่ชุมชนรอบโรงเรียน
คุณครูอัจฉรา คงอินทร์ คุณครูที่ดูแลชั่วโมงอยู่อย่างพอเพียงและชั่วโมงชุมนุม เล่าว่า โรงเรียนจัดฐานการเรียนรู้ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนของโรงเรียน มีทั้งฐานการเรียนรู้ ก.ไก่พันธุ์ไข่ เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ เด็กๆได้เรียนรู้ขั้นตอนการดูแลไก่ไข่ ให้น้ำ อาหาร ทำความสะอาด การป้องกันโรค นอกจากนี้ ยังมีฐานการเรียนรู้ส.ไส้เดือน ฐานการเรียนรู้ ป.ปลาชีวภาพ ฐานการเรียนรู้เห็ดนางฟ้า ฐานการเรียนรู้ ธ.ธนาคารจุลินทรีย์ ช่วยเสริมประสบการณ์ให้นักเรียนจากการลงมือปฏิบัติจริง และยังมีผลผลิตที่เด็กนักเรียนผลิตเองคือ ไข่ไก่ ผักสวนครัว เห็ดนางฟ้า ฯลฯ ที่จำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียนผ่านระบบสหกรณ์
“ผลผลิตไข่ไก่ที่ได้ โรงเรียนมีการบริหารจัดการให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่เป็นมื้อกลางวัน ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ หรือ 120 ฟองต่อปีการศึกษา และพยายามให้เด็กๆได้บริโภคไข่ไก่ในมื้ออื่นๆ ให้ได้ทุกวัน บริโภคไข่ไก่ ในมื้ออื่นๆทุกวันโดยเฉพาะ วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และปิดเทอมแม้จะไม่ได้มาโรงเรียน ด้วยการนำผลผลิตที่เหลือจากที่ส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันขายให้กับผู้ปกครองนักเรียน” คุณครูอัจฉรา กล่าว
“คุณครูสิทธินนท์ ห้อยพรมราช” คุณครูที่รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ของรร.บ้านพรหมมาสามัคคี เล่าเพิ่มเติมถึง กิจกรรมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ฯ ซึ่งมีการแบ่งหน้าที่ให้เด็กๆ ช่วยกันให้อาหารไก่ ทำความสะอาดเล้าไก่ เก็บมูลไก่ เก็บผลผลิตไข่ไก่ ทำให้รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผลผลิตไข่ไก่ที่เหลือจากส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน จะเน้นนำมาขายให้กับผู้ปกครองนักเรียนเป็นหลัก เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้บริโภคไข่ไก่ในมื้ออื่นๆ นอกเหนือจากมื้อกลางวันที่นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 มื้อแล้ว โรงเรียนยังใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม โดยทุกๆ 3 วัน จะนำมูลไก่มาตากแห้ง เพื่อผสมกับปุ๋ยหมักใช้ใส่แปลงผัก และนำมูลไก่ตากแห้งเพื่อจำหน่ายให้ชุมชนด้วย
คุณครูสิทธินนท์ ยังได้บอกอีกว่า โรงเรียนทำบัญชีรายรับรายจ่ายในกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ ฯ ตั้งแต่ปีแรก จนถึงปัจจุบัน มีรายได้จากการจำหน่ายไข่ไก่เกือบ 7 หมื่นบาท โดยในปีที่หนึ่ง จะมีกำไรมากหน่อยเพราะทางซีพีเอฟ สร้างโรงเรือนเลี้ยงที่ได้มาตรฐานให้พร้อมกับอุปกรณ์ รวมทั้ง พร้อมมอบพันธุ์ไก่ และอาหารไก่ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จากนั้นในปีที่สองเป็นต้นมา ทางโรงเรียนนำรายได้จากการขายไข่ไก่ในปีแรกมาบริหารจัดการเป็นทุนในการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่ได้อย่างต่อเนื่อง
ด.ช.ธีรพัฒน์ จาจุน หรือ น้องธีร์ เด็กนักเรียนชาวเขาเผ่ามูเซอ ชั้น ป. 6 เล่าว่า ไข่ไก่จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ของโรงเรียน ทำให้พวกเราได้บริโภคอาหารกลางวันที่ทำจากไข่สัปดาห์ละ 2 -3 มื้อ เช่น ไข่น้ำ ไข่พะโล้ ผัดบวบใส่ไข่ เมนูที่ผมชอบก็คือ ไข่น้ำ ซึ่งนอกจาก
ผมจะได้ทานไข่ไก่ในมื้ออาหารกลางวันที่โรงเรียนแล้ว ผลผลิตไข่ไก่ที่เหลือซึ่งโรงเรียนขายให้ผู้ปกครองนักเรียน ทำให้เราได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อเช้าทุกวัน เช่น ไข่ดาว ไข่เจียว และบางวันที่ได้รับประทานไข่ไก่ครบทั้งมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น
ด.ช.ธนัตถ์ งามเฉลียว น้องนิว อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.5 ซึ่งได้รับมอบหมายจากคุณครูให้ช่วยดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯต่อจากรุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้ว เล่าว่า ทุกๆเช้าผมและเพื่อนๆ คือ ดุ๊ก (ด.ช.อนุพนธ์ ยอดหงษ์ ) กล้า (ด.ช.วันชนะ จันทร์ประทัด) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน มีหน้าที่ให้อาหารไก่ตอน 08.00 น. ดูแลทำความสะอาดโรงเรือนเลี้ยงไก่ และให้อาหารไก่อีกครั้งตอน 15.30 น.และช่วยกันเก็บไข่ไก่ นำส่งโครงการอาหารกลางวันเพื่อทำอาหารกลางวันให้นักเรียน และไข่ไก่ที่เหลือก็จะนำมาจำหน่ายให้ผู้ปกครองนักเรียน พวกเราได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่จากพี่ๆซีพีเอฟ ส่วนไข่ไก่ที่โรงเรียนขาย แม่ก็จะซื้อไปทำกับข้าวที่บ้าน ทำให้ผมได้กินไข่ครบทุกมื้อ นอกจากนี้ ในทุกๆเดือนคุณครูจะแจกไข่ไก่กับนักเรียนที่ช่วยดูแลเลี้ยงไก่ไข่คนละ 1 แผงเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน
“โรงเรียนบ้านพรหมมาสามัคคี” เป็น 1 ใน 855 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โครงการที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนได้บริโภคอาหารโปรตีนจากไข่ไก่ ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้บริโภคเมนูจากไข่ไก่เป็นอาหารกลางวันที่โรงเรียนแล้ว ยังได้บริโภคไข่ไก่ในมื้อเช้าและมื้อเย็นที่บ้าน จากที่โรงเรียนนำผลผลิตไข่ไก่ขายให้ผู้ปกครองในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้บริโภคไข่ไก่ครบทุกมื้อ หนุนการเติบโตสมวัยทั้งทางร่างกายและสติปัญญา