“ทีมเผือกภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง”พบ มท.1และ กทม. เสนอ 4 ข้อให้แก้ปัญหา

4

หลังผ่านมา 1 ปี มีประชาชนแจ้งจุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศเพิ่มมากขึ้นถึง 100 จุด แต่ได้รับการแก้ปัญหาไปไม่กี่จุด พบ ใต้ทางด่วน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนฉลองกรุง เขตลาดกระบัง เขตราชเทวี และถนนรัชดาภิเษก รวมจุดเสี่ยงทั้งหมดที่มีในกทม. 700 กว่าจุด พร้อมจัดทำสารคดีเสียง “Sound Stories” เรื่องเล่าของผู้หญิงที่เคยถูกคุกคามทางเพศ”ในพื้นที่เสี่ยงเพื่อตีแผ่ความจริงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

ขณะ ที่ ‘บิ๊กป๊อก’ รับลูกตั้งทีมรับมือสถานการณ์ช่วยเหลือทันท่วงทีดูแลประชาชน-นักท่องเที่ยว ด้านรองผู้ว่ากทม.ออกคำสั่งด่วนให้สำนักเทศกิจเป็นเจ้าภาพดำเนินการปรับปรุงพื้นที่จุดเสี่ยงทันที ขณะที่ NECTEC ชี้แอพพลิเคชั่นทีมเผือกสามารถแก้ปัญหาจุดเสี่ยงในเมืองได้อย่างตรงจุดเพราะสามารถระบุพิกัดเสี่ยงแบบเรียลทามได้ทันที ด้านกมธ.เด็กสตรีฯ จ่อยกเผือกโมเดลผลักดันกรุงเทพมหานคร ‘เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง

ทีมเผือกภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เปิด 100 จุดเสี่ยงประชาชนปักหมุดเพิ่ม พร้อมยก4ข้อเรียกร้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยไร้การคุกคามทางเพศมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินโครงการหลัก “ทีมเผือก” ทีมเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับผู้หญิง โดย ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ในฐานะตัวแทนภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญฺิง กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของแคมเปญ “ปักหมุดจุดเผือก” ของเครือข่ายฯ ว่า หลังจากที่เครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนใช้แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ส่งพิกัดและรายละเอียดจุดเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางเพศเข้ามา พบมีผู้ส่งข้อมูลจุดเสี่ยงเข้าระบบกว่า 611 จุด

และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมายังมีประชาชนส่งข้อมูลจุดเสี่ยงเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องกว่า 100 จุด อาทิ ใต้ทางด่วน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนฉลองกรุง เขตลาดกระบัง ถนนรัชดาภิเษก ซอยจรัญสนิทวงศ์3 ซอยโยธี เขตราชเทวี จนปัจจุบันทางเครือข่ายฯ มีข้อมูลจุดเสี่ยงในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลถึงกว่า 700 จุด และที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้เข้าพบและเสนอข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร และสถานีตำรวจท้องที่บางแห่ง แต่มาตรการแก้ไขยังมีจำกัด เช่น ตำรวจท้องที่เพิ่มความถี่ในการออกตรวจตราพื้นที่จุดเสี่ยง แต่มาตรการเหล่านี้เกิดเพียงบางจุดบางพื้นที่ ไม่ครอบคลุมจุดที่มีปัญหาทั้งหมด และยังไม่ถูกกำหนดเป็นนโยบายที่หน่วยงานต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน

ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อว่า เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงได้ต่อยอดการปักหมุดจุดเสี่ยงด้วยการลงพื้นที่เก็บเรื่องราวและเสียงบรรยากาศจากประสบการณ์ของผู้หญิงที่เคยถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่ที่มักเกิดเหตุอันตราย ได้แก่ พื้นที่ที่ขาดการบำรุงรักษา ไฟสว่างไม่เพียงพอ จุดอับสายตา ทางเปลี่ยวหรือทางแคบทางตัน พื้นที่ที่ไม่มีป้ายบอกทาง และพื้นที่ที่ไกลจากจุดบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อนำมาถ่ายทอดในรูปแบบสารคดีเสียง “Sound Stories 6 เรื่องเล่าของผู้หญิงที่เคยถูกคุกคามทางเพศ” เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงในการผลักดันให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม โดยประชาชนทั่วไปสามารถคลิกรับฟังสารคดีเสียงทั้ง 6 เรื่องเล่าผ่านลิงค์ดังกล่าวนี้ http://www.soundstories.co/

ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เราจึงขอเข้าพบ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเสนอสภาพปัญหาและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา และสำนักจราจรและขนส่งของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการไฟฟ้านครหลวง เข้าร่วมรับประชุมด้วย และมี สส. กรุงเทพฯ ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมด้วย ในการเข้าพบดังกล่าว เครือข่ายเมืองปลอดภัยได้ยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการแก้ปัญหาความเสี่ยงการคุกคามทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม 4 ข้อ ดังนี้

1. ให้กระทรวงมหาดไทยบูรณาการกับกรุงเทพมหานครสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงพื้นที่ที่ขาดการบำรุงรักษาและพื้นที่ที่เปลี่ยวตามเเผนที่ปักหมุดจุดเสี่ยง 700 จุดที่จัดทำโดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงอย่างเร่งด่วน อาทิ การเปลี่ยนหลอดไฟ เพิ่มเเสงสว่าง ปรับปรุงทางเท้าและทางเดินสัญจร เป็นต้น รวมถึงทำความสะอาดพื้นที่รกร้างให้ปลอดภัยเเละไม่เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ

2.ให้กระทรวงมหาดไทยเเละกรุงเทพมหานคร ทำงานร่วมกับ NECTEC และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดทำระบบรับเเจ้งเหตุการคุกคามทางเพศเพื่อให้เป็นศูนย์กลางเเละช่องทางหลักในการรับเรื่องร้องเรียน โดยใช้มุมมองของผู้หญิง (gender mainstream) ในการออกแบบการให้บริการและการแก้ปัญหา อาจเชื่อมกับระบบเเจ้งเหตุที่มีอยู่เดิมเเละนำข้อมูลระบบการทำงานของเเอพพลิเคชั่น Traffy Fondue (แผนที่ปักหมุดจุดเสี่ยง) ที่ NECTEC พัฒนาขึ้นให้ประชาชนสามารถเเจ้งเหตุผ่าน Line มาต่อยอด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ร้องเรียนการถูกคุกคามในเรื่องต่างๆ และให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสื่อสารและประชาสัมพันธ์การให้บริการไปยังประชาชนทั่วไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้เกิดการใช้งานจริง ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดการเเก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องควรมีการสำรวจเเละเก็บข้อมูลเพื่อติดตามเเละปรับปรุงพื้นที่เป็นประจำแต่ต่อเนื่อง

3. จัดหาอาสาสมัครในเเต่ละพื้นที่เพื่อช่วยสอดส่อง ตรวจตราเเละดูเเลพื้นที่ คล้ายกับการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพราะหากคนในพื้นที่รู้สึกหวงเเหนเเละอยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจะทำให้พื้นที่นั้นปลอดภัยได้มากขึ้น ยกตัวอย่างพื้นที่สะพานเขียว ชุมชนร่วมฤดีเเละลานกีฬาพัฒน์ ชุมชนเคหะคลองจั่น พื้นที่นำร่องที่ดึงชาวชุมชนเจ้าของพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมให้การดูเเลพื้นที่ เปลี่ยนที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

4. ให้กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณบำรุงรักษาพื้นที่เพิ่มเติม เนื่องจากการสำรวจข้อมูล พบว่า การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ กว่า 50 % เกิดในพื้นที่ที่ขาดการบำรุงรักษา เเสงสว่างไม่เพียงพอเเละเป็นทางเปลี่ยว เนื่องจากการลงพื้นที่ในชุมชนที่ผ่านมา พบว่า เสาไฟฟ้าชำรุดหรือไฟไม่ติด เพราะไม่ได้เสียค่าไฟ เมื่อถามหาหน่วยงานที่รับผิดชอบในการซ่อมเเซมหรือชำระค่าไฟ หลายครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบ เป็นต้น

“โดยการทำงานจะต้องทำการจัดตั้งหน่วยงานหรือคณะทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ วิชาการ และภาคสังคม เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม คล่องตัวเเละตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องการรับเเจ้งเหตุ ช่วยเหลือ ปรับปรุงบำรุงรักษาพื้นที่ให้ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ เชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานของกทม.ให้คล่องตัวและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที สั่งพัฒนาต่อยอดแอพฯคลุมพื้นที่ 50 เขตกทม.” ตัวแทนภาคีเครือยข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงระบุ

ขณะที่ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัฉริยะ ศูนย์เทคโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) หนึ่งในภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงซึ่งเป็นผู้คิดค้นระบบรับแจ้งข้อมูล Traffy Fondue ที่นำมาใช้ในโครงการปักหมุดจุดเผือกกล่าวว่า การปักหมุดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเมื่อปีที่แล้วและมีการทำงานใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม มีการแจ้งเหตุ และเข้าไปแก้ไข เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนี้ที่ได้มีการพูดคุยกับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มีการขอความร่วมมือจากนักศึกษาให้ร่วมกันปักหมุดแจ้งจุดเสี่ยงในพื้นที่มหาวิทยาลัย

ตอนนี้ถือได้ว่าธรรมศาสตร์มีการใช้เทคโนโลยีปักหมุดนี้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งตนมองว่าหน่วยงานหลักอย่าง กระทรวงมหาดไทยและ กทม. เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลเชิงพื้นที่ชัดเจน เมื่อข้อมูลของพื้นที่เหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบจะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดของพื้นที่เสี่ยงว่าปัญหาอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของมหาดไทยได้มีนโยบายในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 350 เทศบาลที่นำแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ซึ่งเป็นแอฟที่ทีมเผือกใช้ในการปักหมุดจุดเสี่ยงไปใช้ในการแจ้งเหตุในเทศบาลของตนเอง หากท้องถิ่นมีการเพิ่มโหมดของการปักหมุดจุดเสี่ยงภัยคุกคามทางเพศเข้าไปในระบบด้วย ก็จะแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีการนำร่องไปแล้วเช่น เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลนครสุราษฏร์ธานี และเทศบาลเมืองแสนสุข เป็นต้น

ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า การใช้แอพพลิเคชั่นฯ ถือว่ามีประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการปัญหาเมือง และจุดเสี่ยงได้มาก โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานป้องกันภัยคุกคามทางเพศ จุดเสี่ยง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาจากต้นตอปัญหา นอกเหนือจากเรืองจริยธรรม คือในส่วนของเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่อาจทำให้เกิดจุดเสี่ยง ไฟดับ พื้นที่เปลี่ยว ไม่มีแสงสว่าง ซึ่งจะทำให้มีการถูกค้นพบ มีการรายงาน มีการแจ้งเตือน เพื่อที่จะส่งต่อให้หน่วยงานรัฐ หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบมาปฏิบัติการแก้ไขโดยไม่ต้องนั่งรอเพียงมีคำสั่ง หรือ นั่งรอรับเรื่องร้องเรียน

“วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ต้องเดินไปเรียกรถแท็กซี่หน้าบนถนน หรือ ไม่ต้องไปสั่งซื้ออาหารทีร้านอีกต่อไป เพียงแค่เรากดสั่งในโทรศัพท์มือ ซึ่งเช่นเดียวกับ จุดเสี่ยง เราไม่ต้องโทรศัพท์ไปร้องเรียน ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน แต่วันนี้เมื่อเราเห็นจุดเสี่ยง พื้นที่ไหนน่ากังวล เราก็สามารถปักหมุดพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลแก้ไข สร้างความปลอดภัยให้ทุกคนได้ ซึ่งทุกคนสามารถช่วยกัน และติดตามตรวจสอบได้ ให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.วสันต์ ระบุ

ทั้งนี้ภายหลังการนำเสนอข้อเรียกร้องทั้ง 4 เสร็จเรียบร้อยแล้วภาคีเครือข่ายได้มอบแผนที่จุดเสี่ยงที่อาสาสมัครร่วมกันปักหมุดเพิ่มเข้ามากว่า 700 จุดและมอบซีดีสารคดีเสียง “Sound Stories 6 เรื่องเล่าของผู้หญิงที่เคยถูกคุกคามทางเพศ” ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครและ คณะกรรมาธิการ เด็กสตรีเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรด้วย

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวในการร่วมหารือกับภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงในครั้งนี้ว่า การที่ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศถือเป็นอาชญากรรม ตนมองว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะเราอยู่ในประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่กลับมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศเราแล้วถูกข่มขืน โดยเฉพาะใน กทม. ที่เหตุการณ์มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง เราจะปล่อยให้บ้านเมืองของเราเป็นแบบนี้หรือ ขณะที่ในบางประเทศอย่างญี่ปุ่นคนเดินไปได้ทุกที่ ปลอดภัยเกือบ 100% ซึ่งเรื่องนี้ตนเองเข้าใจว่าเราจะต้องทำงานเชื่อมโยงกับ Response Team หรือทีมแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา ต้องนำทุกเครือข่ายเข้ามาอยู Response Team ร่วมกับตำรวจที่มีทีมอยู่แล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ต้องแบ่งบทบาทหน้าที่ว่าหน่วยไหนจะดูเรื่องอะไร รวมถึงงานเชิงป้องกันในส่วนของการไฟฟ้า เรื่องของการติดไฟในจุดเสี่ยงตามที่ประชาชนร้องเรียนมาให้มากขึ้น รวมทั้ง กทม. โดยเฉพาะสำนักเทศกิจ เราจะต้องมาทำงานในประเด็นนี้ร่วมกัน

ด้านนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครภายหลังจากรับข้อเรียกร้องของทีมเผือกแล้วได้สั่งการให้สำนักเทศกิจเป็นเจ้าภาพดำเนินการปรับปรุงพื้นที่จุดเสี่ยง จากข้อมูลพื้นที่จุดเสี่ยงที่ กทม. มีข้อมูลอยู่แล้วกว่า 400 จุด บวกกับพื้นที่ปักหมุดจุดเผือกของทีมเผือกภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง อีกกว่า 700 หมุด และยินดีร่วมกับมหาดไทย การไฟฟ้า และตำรวจในการทำงานร่วมกันตามข้อเรียกร้องของภาคีเครือข่าย

ด้าน น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ในฐานะ กมธ. เด็กสตรีเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ระบุว่า เรามีความคาดหวังในระยะยาวให้มีการพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นให้เกิดผล เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล เพื่อจะได้ร่วมด้วยช่วยเหลือกัน และอยากให้ กทม. เป็นจุดเริ่มต้นเมืองปลอดภัยผู้หญิง เพราะหากผู้หญิงปลอดภัย ทุกคนก็ปลอดภัย ทั้งนี้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีคนจำนวนมาก มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากมาย อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองนำร่องทำในสิ่งนี้ ซึ่งต้องขอชื่นชมและยอมรับว่า ภาคีเครือข่ายฯ มีความเข้มแข็ง ถือเป็นโมเดลที่จะผลักดันให้เป็นเมืองปลอดภัย และทำงานร่วมประสานกับภาครัฐ