การวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้การพัฒนาประเทศเท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก ถือเป็นนโยบายหลักในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนองนโยบายดังกล่าวโดยการส่งเสริมบุคลากรผู้มีผลงานการประดิษฐ์และนวัตกรรม ให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อประโยชน์สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลผู้ที่มีผลงานการประดิษฐ์คิดขึ้น ผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีใหม่ ซึ่งเป็นความจำเป็นเพื่อสนองตอบความต้องการและเป็นปัจจุบัน โดยเป็นผลงานที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องของสังคม และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย หรือได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว สำหรับปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี และหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงาน เรื่อง “ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออก” โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัล จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 6 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เกิดจากการติดเชื้อ Dengue Virus (DENV) มี 4 สายพันธุ์ ซึ่งแพร่โดยยุงลาย โดยในแต่ละปีพบว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือ 3,900 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงที่มียุงลาย เกือบ 100 ล้านคนติดเชื้อแสดงอาการป่วย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 30,000 คน จนถึงปัจจุบันยังคงไม่มียาเฉพาะในการยับยั้ง DENV
ทีมนักวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต ร่วมกับทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกในการสร้างแอนติบอดีมนุษย์ ที่ยับยั้ง DENV ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยวิธี Hybridoma (SPYMEG Cell) จดสิทธิบัตรแล้ว 2 ฉบับ คุ้มครองใน 11 ประเทศ ปัจจุบัน มีบริษัทยาชีวภาพจากสหรัฐอเมริกามาทำสัญญาลงทุนผลิตและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ โดยจะเริ่มทดลองในอาสาสมัครในปี พ.ศ. 2564 และวางแผนจะออกจำหน่ายได้ในปี พ.ศ. 2568 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต เพิ่งจะได้รับการตัดสินให้เป็น “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี พ.ศ. 2563 จากผลงานเดียวกันนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต ได้กล่าวฝากนักวิจัยรุ่นใหม่ถึงหลักแนวคิดในการทำวิจัย คือ ให้เลือกทำงานวิจัยที่ชอบที่สุด ตั้งเป็นเป้าหมายชีวิต เห็นภาพความสำเร็จชัดเจนในจิตใต้สำนึก แล้วมุ่งมั่นลงมือทำทุกวันจนภาพฝันเป็นจริง ต้องตั้งเป้าหมายว่าผลงานวิจัยสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ไม่จบเพียงแค่ตีพิมพ์ผลงาน หรือจดสิทธิบัตร โดยเป้าหมายสูงสุดคือผลงานนั้นจะต้องสามารถทำประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติได้จริง เหมือนดังพระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงมิใช่อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่ความสามารถในการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ”