“สวยโลกไม่เสีย” กลยุทธ์อีฟ โรเช่สู้โควิด

44
วิลาสินี ภาณุรัตน์

มีความจริงที่ว่า “ผู้หญิงอย่าหยุดสวย” และยิ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด ที่ผู้บริโภคเพิ่มการใส่ใจในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ในด้านความสะอาด ปลอดภัย และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ส่งผลดีต่อแบรนด์ “อีฟ โรเช่” ผลิตภัณฑ์ความงามจากประเทศฝรั่งเศส ที่ชูกลยุทธ์ “สวยโลกไม่เสีย” สร้างการเติบโตสวนกระแส

ข้อมูลล่าสุด พบว่ามูลค่าตลาดรวมของธุรกิจความงามและเครื่องสำอางในประเทศไทย อยู่ที่ 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเดิมคาดว่าจะเติบโต 8% ในปี 2563 แต่จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ตลาดโดยรวมได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ตลาดรวมติดลบ 20% แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ “อีฟ โรเช่” แบรนด์ความงามจากประเทศฝรั่งเศส กลับสวนกระแสและมีอัตราติดลบเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากจากกลยุทธ์ “สวยโลกไม่เสีย” ที่สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น

วิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท อีฟ โรเช่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิกฤตโควิดครั้งนี้ ทำให้พฤติกรรรมของผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงการใส่ใจในรายละเอียดของสินค้าทั้งวัตถุดิบ ทุกขั้นตอนของการผลิต ที่สำคัญต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดยืนของแบรนด์อีฟ โรโช่มาโดยตลอด 60 ปี

อีฟ โรเช่ เป็นแบรนด์ความงามจากแคว้นบริตทานี ประเทศฝรั่งเศส ที่มีจุดยืนในเรื่อง “สวยโลกไม่เสีย” ให้คนและธรรมชาติเชื่อมโยงถึงกัน และอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยผลิตภัณฑ์ของอีฟ โรเช่ ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% โดยควบคุมการผลิตทั้งหมดด้วยตัวเองไม่ผ่านคนกลาง ตั้งแต่การปลูกวัตถุดิบ การวิจัย เก็บเกี่ยว จนกระทั่งส่งตรงจากฝรั่งเศสถึงมือลูกค้าทั่วโลก และทำให้สามารถคุมราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้

และตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นเป็นต้นไป อีฟ โรเช่ จะเป็นแบรนด์แรกในตลาด ที่ 100% ของสินค้าทำมาจากวัตถุดิบรีไซเคิล ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% นอกจากนี้จะลดใช้สารต่างๆ ในสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นคลีนฟอมูล่า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากโรงงานผลิตให้มากขึ้นทุกปี และในปี 2564 จะมีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การเปิดบริการรีฟิลสินค้าที่หน้าร้าน การเลิกใช้พลาสติก Wrap ทั้งหมด ช่วยลดการใช้พลาสติกได้ถึง 35 ตันต่อปี รวมถึงป้ายพลาสติกทั้งหมดในร้านจะถูกนำออกทั้งหมด

วิลาสินี กล่าวว่า ในช่วงโควิดที่เกิดขึ้น บริษัทได้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น รองรับกับการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 60 ปี ที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ซึ่งในประเทศไทยได้ทำตลาดในช่องทางดิจิทัลเชื่อมโยงออฟไลน์กับออนไลน์ ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงโควิด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนราย จากฐานสมาชิกเดิมมีประมาณ 2.5 แสนราย ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน จะเพิ่มโปรแกรมการขายในรูปแบบโซเชี่ยลเซลลิ่ง (Social Selling) ที่เปิดให้ผู้บริโภคหารายได้เสริมจากการแชร์ข้อมูลสินค้าบน Social Media Platform ของสมาชิก ซึ่งประเทศไทยเป็นที่แรกที่บริษัทแม่ให้ริเริ่มโครงการนี้ เนื่องจากคนไทยมีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุดในโลก และช่องทางการขายผ่าน Social Commerce เติบโตสูงมาก คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ยอดขายในปี 2564 เติบโตประมาณ 35% จากปีนี้ที่คาดว่าจะปิดยอดขายที่ 900 ล้านบาท

“ในช่วงไตรมาสสุดท้าย เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่อีกหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่มีสารสกัดจากธรรมชาติ 100% และมีขั้นตอนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้าของแบรนด์ และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างยั่งยืน” วิลาสินีกล่าวทิ้งท้าย