สำหรับประเทศไทย มะเร็งเต้านม ถือเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทย โดยคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของมะเร็งทั้งหมด เช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วโลกซึ่งประสบกับอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านม มะเร็งเต้านมนั้นเป็นภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคนแม้จะไม่ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความเสี่ยงเลยก็ตาม
สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย (Thai Breast disease Society) ร่วมกับ ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย (Thailand Breast Cancer Community: TBCC) ได้จัดการประชุมเชิงเสวนาให้ความรู้แบบ Virtual Meeting ผ่านช่องทาง TBCC Facebook Live ที่ได้รับเกียรติจากพลโท รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุม และมีดาราสาวสวยอารมณ์ดี แพท-ณปภา ตันตระกูล มาร่วมพูดคุยและเป็นตัวแทนเชิญชวนให้ผู้หญิงทุกคนหันมาใส่ใจในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์ แนวทางการรักษา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญคือการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการรับมือกับโรคมะเร็งเต้านมจากผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมและอดีตผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ยังได้รับความสนใจโดยมีผู้เข้าร่วมชมการไลฟ์สดมากกว่าสองร้อยคนและมีคนเข้าไปรับชมย้อนหลังร่วมสองหมื่นวิว
พลโท รศ. นพ. วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และที่ปรึกษาหน่วยศัลยศาสตร์มะเร็ง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า “ปัจจุบันจากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย ยกตัวอย่างจำนวน 100,000 คน จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมถึง 30 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยอายุน้อยหรืออยู่ในกลุ่มวัยก่อนหมดประจำเดือนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามสาเหตุของโรคนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์ แต่คาดว่าด้วยสภาพแวดล้อม และการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป รวมถึงการที่ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น ทำให้บางรายมีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อยหรือก่อนอายุ 12 ปี หรือกลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 55 ปีขึ้นไป และสตรีที่ทานยา Hormone replacement therapy (HRT) หรือยาฮอร์โมนทดแทนมากกว่าหนึ่งปี จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้มากกว่าประชากรทั่วไป 1.1 ถึง 2 เท่า ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทานยาดังกล่าว แนะนำให้ควรหยุดยาเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านม และยังเป็นการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตอีกด้วย”
“สำหรับผู้หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และสำหรับรายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก ๆ 1 – 2 ปี และควรตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม เพื่อถ่ายภาพและเก็บรักษาภาพไว้ในฐานข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์ การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการรักษามะเร็งเต้านม เช่น ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่มีผลข้างเคียงลดน้อยลง มาเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาด หรือมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” พลโท รศ. นพ. วิชัย กล่าวเสริม
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะได้รับความรู้เบื้องต้นที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ได้พบปะพูดคุยกับตัวแทนผู้ป่วยและอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผ่าน Facebook Live ที่มาแชร์ประสบการณ์ในการรับมือกับมะเร็งเต้านมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระหว่างการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอีกด้วย
ไอรีล ไตรสารศรี (ออย) ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม กล่าวว่า “ในนามตัวแทนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะสี่ที่อยู่กับมะเร็งเต้านมมานานกว่า 10 ปีจนถึงปัจจุบัน การปรับมุมมองในการดำเนินชีวิตนั้นมีความสำคัญ เราจะต้องมีสติให้มั่น เรียนรู้วิธีรับมือกับโรค รวมถึงการจัดการเรื่องของเวลา การเงิน การออกกำลังกาย เพื่อให้ตนเองแข็งแรงและมีความสุข ซึ่งทุกอย่างต้องมีความสมดุลควบคู่กันเพื่อคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามลำดับ สิ่งสำคัญคือ ออยต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็งในระยะที่สี่ที่ไม่จำเป็นจะต้องติดกับภาพร่างกายที่อ่อนแอ ผอม โทรม เท่านั้น เราสามารถมีคุณภาพชีวิตทีดีได้ ทั้งยังสามารถแบ่งปันประสบการณ์เพื่อเติมพลังบวกให้กับเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน และที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจจากคนในครอบครัว เพราะครอบครัวสามารถช่วยให้ผู้ป่วยนั้นฮึดสู้และไม่กลัวที่จะเข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงอยากให้ผู้หญิงไทยทุกคน รู้ทัน รู้เร็ว เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เพื่อสามารถมีโอกาสหายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป”
“สุดท้ายนี้ เพราะความสุขของผู้หญิงคือเรื่องความสวยงาม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวไกลในปัจจุบัน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่จำเป็นต้องตัดเต้านมออก ทางการแพทย์ได้คิดค้นเทคนิคการสร้างเต้านมใหม่ โดยการใช้ซิลิโคนหรือไขมันจากหน้าท้องของตนเอง เป็นการผ่าตัดย้ายไขมันหน้าท้องโดยที่มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอยู่มาไว้ที่หน้าอก แต่เต้านมจากการผ่าตัดเสริมวิธีนี้จะไม่สามารถรับความรู้สึกได้” พลโท รศ. นพ. วิชัย กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ทางชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย หรือ TBCC ได้รณรงค์เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนให้ความสำคัญเรื่องการเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลความรู้ และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง จึงเชิญชวนมาร่วมเป็นสมาชิกใน LINE Chatbot: @tbccbreastcare ซึ่งภายใน Chatbot จะนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ และกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป หรือท่านใดสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ Tbcc-community หรือชม Breast Talk Live ย้อนหลังได้ที่ Facebook: TBCCcommunity