ม.สงขลานครินทร์ (ม.อ.) โชว์ศักยภาพนักวิจัยและคณะทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ พัฒนาเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ สำหรับผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ชูประสิทธิภาพสูงใช้ทุกสภาพพื้นผิว มีความปลอดภัยการใช้งาน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์สู่สังคม ทั้งหน่วยงานราชการและโรงเรียน ที่ ภาคใต้ หวังเป็นส่วนหนึ่งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและเสริมสร้างสุขอนามัยประชาชนคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน ส่งผลต่อความต้องการใช้แอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อสูงขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์กว่า 10 คน ร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์” สำหรับผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงใช้ได้ทุกสภาพพื้นผิว มีความปลอดภัย โดยพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยต่อยอดในเชิงพาณิชย์สู่ชุมชนและสังคม
ทั้งนี้การผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อจากเครื่องเองได้ โดยอาศัยน้ำและเกลือ ม.อ.ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การวิจัยให้แก่หน่วยงานราชการและโรงเรียนต่างๆ ในภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้อุปกรณ์ผลิตกรดไฮโปคลอรัสสำหรับฆ่าเชื้อโรคด้วยตัวเอง ให้แก่กองร้อยกองบังคับการกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล จ.สงขลา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และถ่ายทอดองค์ความรู้เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสสำหรับฆ่าเชื้อโรคแบบใช้ในครัวเรือน ณ โรงเรียนส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ (เกาะหมี) จ.สงขลา
สำหรับการพัฒนาเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนน้ำยาฆ่าเชื้อซึ่งไม่ได้มีเพียงเอทานอลเท่านั้น นำองค์ความรู้จากวิชาเคมีไฟฟ้าในการผลิต โดยจากการจ่ายศักย์ไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าให้แก่ขั้วไฟฟ้า แผ่นวัสดุนำไฟฟ้าขั้วแอโนด (ขั้วบวก) ที่จุ่มอยู่ในภาชนะบรรจุสารละลายเกลือแกง จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่บริเวณผิวหน้าได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดกรดไฮโปคลอรัส ที่มีพีเอชอยู่ในช่วง 4.0 ถึง 6.5 ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดอ่อน มีค่า Oxidation–Reduction potential สูง สำหรับแผ่นวัสดุนำไฟฟ้าขั้วแคโทด (ขั้วลบ) ที่จุ่มอยู่ในขวดบรรจุสารจะเกิดปฏิกิริยารีดักชันที่บริเวณผิวหน้าได้ผลิตภัณฑ์เป็นโซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีพีเอชอยู่ในช่วง 8 ถึง 14
“ความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความมุ่งมั่นของนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ใช้ระยะเวลาพัฒนา 1 ปี จนได้ผลงานที่สามารถทำคุณประโยชน์ได้ทุกมิติ ทั้งยังถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์สู่ชุมชนและสังคม ซึ่งในอนาคตจะร่วมกับผู้ประกอบการในการต่อยอดและพัฒนาน้ำยาฆ่าเชื้อไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันได้ร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว โดยม.อ.ขอเป็นส่วนหนึ่งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและเสริมสร้างสุขอนามัยประชาชนคนไทยให้ดียิ่งขึ้น” รศ.ดร.วรากร กล่าว