สสส.ก้าวสู่ปีที่ 20 เปิดผลงาน “องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” พร้อมตั้ง “ThaiHealth Academy” และ “SOOK Enterprise” เครื่องมือเสริมสุขภาพคนไทย เดินหน้าสู้ PM 2.5 – NCDs ผลงานเข้าตาชาวโลก เตรียมรับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “รางวัลเนลสันแมนเดลา” พ.ค.นี้ ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงปี 2562-2563 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด-19 สสส. ต้องปรับแผนการทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเสริมสุขภาพวิถีใหม่ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ ทำงานเชิงรุกออกแบบและพัฒนาการเฝ้าระวัง ป้องกัน ค้นหาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งระดับชุมชน เขตเมือง ร่วมสนับสนุนพัฒนาระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เพื่อสอบสวนโรค
“เรายังใช้ศักยภาพที่มีเป็นตัวกลางของรัฐ สนับสนุนพัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลสุขภาพระดับชาติ “ไทยรู้สู้โควิด” และ สสส. ยังคงให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มปัจจัยสร้างสุขภาพอย่างเข้มข้น พบว่า อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 32.7% ในปี 2547 เป็น 28.4% ในปี 2560 อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจาก 32% ในปี 2534 เป็น 19.10% ในปี 2560 จำนวนประชากรไทยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอเพิ่มขึ้นจาก 66.3% ในปี 2555 เป็น 74.6% ในปี 2562” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ในปี 2564 เป็นปีที่ สสส.ครบรอบ 20 ปี สู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” โดยจะเปิดตัว 2 หน่วยงานภายใต้การกำกับ คือ ศูนย์กิจการสร้างสุข (SOOK Enterprise) ทำหน้าที่ขยายผลองค์ความรู้ ข้อมูลวิชาการ สร้างเสริมประสบการณ์ด้านสุขภาวะให้เข้าถึงประชาชน ผ่านกิจกรรมและผลิตภัณฑ์สุขภาวะที่สร้างสรรค์ และสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) เพื่อพัฒนาศักยภาพ และให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย ยกระดับนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ และเดินหน้างานโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงผลักดัน “กฎหมายอากาศสะอาด” จากปัญหา PM2.5 การนำระบบฐานข้อมูล “บิ๊กดาต้า” (Big Data) มาใช้ป้องกันดูแลสุขภาพ และสานต่อเรื่องโควิด-19 การจ้างงานคนพิการ และสนับสนุนมาตรการทางราคาและภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ลดเสี่ยงโรค NCDs
“การทำงานตลอด 20 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยหลายด้าน เกิดโครงการส่งเสริมสุขภาพกว่า 3,000 โครงการต่อปี ครอบคลุมประเด็นเชิงสุขภาวะที่หลากหลาย มีภาคีเครือข่ายมากกว่า 20,000 ราย เข้าร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส. กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับถึงงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย รางวัลเนลสันแมนเดลา ด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Nelson Mandela Award for Health Promotion 2021) คือความสำเร็จของภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทุกคน ที่อุทิศตนทำงาน ในระดับนานาชาติ ถือเป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจของไทย” ดร.สุปรีดา กล่าว
สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จะจัดขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ สสส. ขอชวนคนไทยร่วมภาคภูมิใจไปด้วยกัน เป็นพลังสร้างสรรค์งานสร้างเสริมสุขภาวะ กับรางวัลเนลสันแมนเดลา รางวัลเกียรติยศของคนไทยทุกคน