ซิสโก้ เผยรายงานการศึกษาฉบับล่าสุดว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทยมีความเห็นว่า “การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย” (21%) คือเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดในปีนี้ (อีก 12 เดือนข้างหน้า) ส่วนเป้าหมายรองลงมาคือ ใช้เทคโนโลยีในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ๆ (16%) อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายสำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีไทยก็คือ การมองหาช่องทางอื่นๆ ในการขายและจัดส่งสินค้า (59%) ตามด้วย การปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน (50%)
ผลการศึกษาที่ยังชี้ให้เห็นว่า การเตรียมระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านของพนักงาน ถือเป็นกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานและการขยายกิจการในปี 2564 โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมีความสำคัญเทียบเท่ากับ ‘การปรับใช้แพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์’เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และเติบโตอย่างยั่งยืน
เนื่องจากการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปสู่การทำงานแบบไฮบริด ดังนั้นเอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้จึงมีแผนที่จะลงทุนในโซลูชั่นเทคโนโลยีเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว ข้อมูลคาดการณ์ของ Analysys Mason ระบุว่ายอดใช้จ่ายสะสมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของเอสเอ็มอี[1] ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสูงเกิน 5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2567 โดยจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ครองสัดส่วนสามในสี่ของยอดใช้จ่ายดังกล่าว และเมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตจะครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของยอดใช้จ่ายด้านไอซีที เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมภาคเอกชนทั้งหมดในภูมิภาคนี้
ทวีวัฒน์ จันทรเสโน รักษาการกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ กล่าวว่า การแพร่ระบาดส่งผลให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และองค์กรธุรกิจทุกขนาดทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนในปี 2564 ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) การรวมประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวมถึงโซลูชั่นคลาวด์ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย และการใช้ระบบอัตโนมัติ คือแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และเสริมสร้างขีดความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ
ปีนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยให้ความสำคัญไปกับการจัดเตรียมระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการปรับใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และการอัพเกรดโซลูชั่นไอทีที่ใช้งานอยู่ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเร่งการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซิสโก้จึงได้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อการนี้โดยเฉพาะภายใต้ชื่อ Cisco Designed โดยมุ่งเน้นองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ การเชื่อมต่อ การทำงานร่วมกัน การประมวลผล และการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ การเร่งปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในลักษณะเช่นนี้จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมต่างๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้พลิกโฉมอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเดิมต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยจะปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบคลาวด์เป็นหลัก
3 แนวโน้มสำคัญที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและไอทีสำหรับเอสเอ็มอีในปี 2564 ดังนี้:
การรวมประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อช่วยให้การมีส่วนร่วม ความพึงพอใจ และความภักดีของลูกค้าดีขึ้น
เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์และข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ส่งผลให้ร้านค้าปลีกและสำนักงานต้องปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว การมองหาช่องทางอื่นๆในการขายและจัดส่งสินค้าจึงถือเป็นความท้าทายที่เอสเอ็มอีราวครึ่งหนึ่ง (50%) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รองลงมาคือปัญหาเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน (44%) และการเพิ่มรายได้ (40%) สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีการปรับเปลี่ยนช่องทางดิจิทัลในการติดต่อกับลูกค้า รวมถึงประสบการณ์ลูกค้าในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้เอสเอ็มอีจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้ช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยกว่าสามในสี่มองว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากสำหรับกลยุทธ์ด้านไอทีของบริษัทในปีนี้
ผลการศึกษายังเปิดเผยอีกด้วยว่า “ประสบการณ์ลูกค้า” (59%) เป็นภารกิจสำคัญสูงสุดสำหรับเอสเอ็มอีในภูมิภาคในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ขณะที่เอสเอ็มอีพัฒนาไปสู่ประสบการณ์ลูกค้าแบบไร้สัมผัส (Contactless) เพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของการเจาะกลุ่มเป้าหมาย การติดต่อสื่อสาร และการเปิดบัญชีลูกค้า บริษัทจำเป็นที่จะต้องคิดหาแนวทางใหม่ๆ ในการบูรณาการประสบการณ์ดิจิทัลเข้ากับการติดต่อสื่อสารทางกายภาพอย่างไร้รอยต่อและเอื้อประโยชน์ต่อกัน เพื่อสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เอสเอ็มอีจำเป็นต้องอาศัยแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อรองรับประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่ราบรื่นและน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกัน จะต้องมีระบบที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพเพื่อรองรับการจัดส่งสินค้า และการให้บริการหลังการขายภายหลังการทำธุรกรรม
การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวมถึงโซลูชั่นคลาวด์ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย
สืบเนื่องจากการหยุดชะงักของธุรกิจซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้ว การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายถือเป็นเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอี (18%) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอีก 12 เดือนข้างหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่พัฒนาแล้วในภูมิภาค (ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ซึ่งกว่าหนึ่งในสี่ (26%) ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ขณะที่ ตลาดเกิดใหม่ (อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และไทย) อยู่ที่ 17%
การปรับปรุงประสิทธิภาพโดยอาศัยระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีขั้นสูง Hyperautomation เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีบรรลุเป้าหมายนี้ ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวล้ำสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและไม่แพงจนเกินไปสำหรับเอสเอ็มอี เช่น โซลูชั่น AI ที่ให้บริการบนระบบคลาวด์ ดังนั้นจึงมีการปรับใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 นอกจากนี้ การใช้งานแพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์ยังช่วยให้สามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดของการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของธุรกิจ และช่วยลดต้นทุนคงที่ได้อีกทางหนึ่ง
บทบาทของบุคลากรเปลี่ยนจากการเป็นเสมือนเครื่องมือในการทำงาน ไปสู่ “การสร้างมูลค่า”
การเปลี่ยนย้ายไปสู่รูปแบบการทำงานจากที่บ้านในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก่อให้เกิดความท้าทายและภารกิจใหม่ๆ สำหรับเอสเอ็มอี การปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน (44%) ถือเป็นความท้าทายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสองสำหรับเอสเอ็มอีในภูมิภาค ทั้งนี้ในตลาด APAC ที่พัฒนาแล้ว การมีส่วนร่วมของพนักงาน (42%) ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล เราคาดว่าเอสเอ็มอีจะเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายเหล่านี้ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถให้เทียบเท่ากับองค์กรจากการทำงานจากที่บ้าน
นอกจากนี้ การขยายตัวของระบบงานอัตโนมัติทำให้บุคลากรไม่ต้องทำงานซ้ำๆ ที่น่าเบื่ออีกต่อไป และสามารถทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ บทบาทที่เปลี่ยนไปของบุคลากรจากเดิมที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องมือในการทำงานไปสู่ “การสร้างมูลค่า” ที่จะช่วยให้บุคลากรมีความภาคภูมิใจในการทำงานมากขึ้น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงทักษะและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และในท้ายที่สุดแล้วก็จะมีส่วนร่วมในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่กว้างมากขึ้น