เกิดอะไรขึ้น เมื่อคนไทยกลายเป็น “นักสำรวจดิจิทัล”

8

วีเอ็มแวร์ เผยผลการศึกษาล่าสุด VMware Digital Frontiers 3.0 การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำผู้บริโภคชาวไทยกว่า86% “ใส่ใจในเรื่องดิจิทัล” และเป็น “นักสำรวจดิจิทัล” นำหน้าอเมริกาและยุโรป  ตัวเร่งให้องค์กรไทยนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลที่เหนือชั้น

จากรายงานผลการศึกษา VMware Digital Frontiers 3.0 Study ซึ่งระบุว่าผู้บริโภคชาวไทยมีระดับการยอมรับประสบการณ์ดิจิทัลสูงที่สุดในโลก โดย 86% ของผู้บริโภคในไทยระบุว่าตนเอง “มีความใส่ใจในเรื่องดิจิทัล” หรือเป็น “นักสำรวจดิจิทัล” และคาดหวังว่าภาคธุรกิจต่าง ๆ จะนำเสนอบริการและประสบการณ์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น  ตัวเลขความเป็นนักสำรวจดิจิทัล ยังสูงกว่าอีก 8 ประเทศที่มีการสำรวจทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เฉลี่ย 78%), สหรัฐฯ (59%), ฝรั่งเศส (55%), เยอรมนี (57%) และสหราชอาณาจักร (64%)

เหตุผล เพราะประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนด้านเทคโนโลยีในช่วงปี 2563 เพื่อรองรับการโยกย้ายธุรกิจและกิจกรรมในชีวิตประจำวันไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ผลการศึกษาดังกล่าวเปิดเผยว่า ผู้บริโภคในไทย 77% ระบุว่า ถึงแม้ตนเองถูกบีบบังคับให้ต้องหันไปใช้บริการและประสบการณ์ดิจิทัลใหม่ๆ ในช่วงปี 2563 แต่ก็รู้สึกพึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ ตรงกันข้ามกับประเทศอื่น ๆ ที่มีการสำรวจ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เฉลี่ย 60%), สหรัฐฯ (40%), ฝรั่งเศส (40%), เยอรมนี (33%) และสหราชอาณาจักร (33%)

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังมีความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่มีต่อสังคม โดย 75% กล่าวว่าตนเองรู้สึกเป็นกังวลว่าญาติผู้ใหญ่จะไม่สามารถก้าวได้ทันกับโลกดิจิทัลยุคใหม่  ยิ่งไปกว่านั้น 73% รายงานว่าตนเองยินดีที่จะใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อพิจารณาถึงการลดผลกระทบของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม

“ผู้บริโภคในไทยให้ความสำคัญและมีความคาดหวังที่สูงขึ้น เร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนองค์กรและอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันเชิงดิจิทัลของไทย ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้”  นายเอกภาวิน สุขอนันต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท วีเอ็มแวร์ กล่าว

ประเทศไทยได้เปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคถัดไปของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยภาคธุรกิจที่มีการขับเคลื่อนด้วยความเร็วและความคล่องตัว เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ในขณะที่ภาคธุรกิจของไทยเร่งการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลเพื่อเสริมศักยภาพการเติบโตให้สูงขึ้นในช่วงหลายปีนับจากนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ปลอดภัยและไร้รอยต่อ โดยครอบคลุมแอปพลิเคชัน ระบบคลาวด์ และอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยได้อย่างแท้จริง”

ในโลกดิจิทัลยุคใหม่ที่ภาคธุรกิจของไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือด ผู้บริโภค 81% ระบุว่าตนเองได้เริ่มมีส่วนร่วมกับแบรนด์ที่นำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลที่เหนือกว่า โดยแรงจูงใจที่สำคัญได้แก่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง การนำเสนอดิจิทัลคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และความสะดวกในการใช้งาน  เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว องค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกในการใช้งาน และความรวดเร็วของบริการดิจิทัลที่นำเสนอ ดังจะเห็นได้ว่า ประสบการณ์ดิจิทัล 3 อย่างที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญมากที่สุดได้แก่ แอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ (48%), การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (45%) และความสะดวกในการใช้งานบนอุปกรณ์ทุกรูปแบบ (45%)

ผลการศึกษาดังกล่าวยังเผยให้เห็นว่า บางกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทย สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ในช่วงปี 2563 โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ปัจจุบัน องค์กรในภาคธุรกิจบริการด้านการเงิน (62%), ค้าปลีก (59%) และภาคการศึกษา (38%) นำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลโดยรวมที่ปรับปรุงดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  นอกจากนั้น องค์กรในภาคธุรกิจบริการด้านการเงินและค้าปลีกยังเป็นผู้นำเหนือกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ ในเรื่องของความน่าเชื่อถือ โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ธุรกิจบริการด้านการเงิน (60%) และค้าปลีก (41%) ให้ความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดี

ความคาดหวังของผู้บริโภคชาวไทยต่อบริการและประสบการณ์ดิจิทัลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่า ธุรกิจบริการด้านการเงิน (62%), ค้าปลีก (58%) และการศึกษา (38%) นำเสนอบริการดิจิทัลที่น่าสนใจมากกว่า

สำหรับองค์กรในไทย การฟื้นฟูและขยายธุรกิจให้เติบโตจำเป็นต้องอาศัยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวและเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินงานในโลกดิจิทัลยุคใหม่  ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคโอกาสทางธุรกิจที่เหนือกว่าในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เทคโนโลยีของวีเอ็มแวร์ทั้งในส่วนของระบบคลาวด์ การปรับปรุงแอปให้ทันสมัย ระบบเครือข่าย ระบบรักษาความปลอดภัย และแพลตฟอร์มพื้นที่ทำงานดิจิทัลที่ใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกัน ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลแบบเฉพาะบุคคลให้แก่ผู้ใช้ได้อย่างไร้รอยต่อ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากขึ้น