ธนาคารกสิกรไทยครองแชมป์ Bank of the Year 2021

21

เผยผลจัดอันดับธนาคารแห่งปี Bank of the Year ธนาคารกสิกรไทย ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2564 Bank of the Year 2021

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2564 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2564 หรือ Bank of the Year 2021 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง ในรอบปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2563 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2564

โดยในปี 2563 ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 29,487.12 ล้านบาท มีกำไรต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 12.42 บาท และมีรายได้รวม 176,921.41 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกัน

สำหรับปี 2564 ธนาคารได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ยังคงดำเนินธุรกิจบนหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) และมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้าในทุกๆ กลุ่ม โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ 3 ด้าน

  1. พัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้า โดยรักษาการเป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึง และให้บริการลูกค้าในสถานที่และเวลาที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงได้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมแก่ลูกค้าต่อไป ควบคู่ไปกับการยกระดับการปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล เพื่อสร้างรายได้ด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อย การนำข้อมูลธุรกรรมทางธุรกิจที่ได้จากคู่ค้าใน Value Chain มาวิเคราะห์เพื่อหาลูกค้าใหม่ รวมถึงการบริหารต้นทุนด้านความเสี่ยงและการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังขยายการให้บริการลงทุนและประกันไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทุนและประกัน ด้วยผลิตภัณฑ์ของธนาคาร บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมถึงการให้บริการจากพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร ด้วยแพลตฟอร์มการลงทุนที่ช่วยให้ลูกค้าสะดวกและมีข้อมูลในการตัดสินใจได้

พร้อมทั้งยกระดับประสบการณ์บริการและการขาย พัฒนาบริการของช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าทำรายการได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงมีรูปแบบการขายและบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าที่มากขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ทั้งทรัพยากรบุคคล ข้อมูล การเงิน และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็จะรุกตลาดภูมิภาค AEC เพื่อให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและทำธุรกิจใน AEC ที่กำลังเติบโตทั้งทางด้านประชากรและเศรษฐกิจ

  1. สร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ ผ่านการสื่อสารและบริหารประสบการณ์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับจากการทำธุรกิจกับธนาคาร และ 3. ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวอย่างต่อเนื่องตามโครงการ Transformation ทั้ง 8 โครงการ ได้แก่

1) การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้าง Ecosystem ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการขายและให้บริการของธนาคาร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า 2) การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Intelligent Lending) 3) บริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ และแนวทางการป้องกันในเชิงรุก

4) การพัฒนาบริการรับชำระเงินระหว่างประเทศ 5) การพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Data Analytics) 6) ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 7) การพัฒนาศักยภาพของพนักงานเพื่อมุ่งสู่การเป็น Agile Organization และ 8) พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ธนาคารเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค

สำหรับเป้าหมายทางการเงินของธนาคารในปี 2564 กำหนดไว้ดังนี้

1.การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ตั้งเป้าที่ 4-6% โดยมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อลูกค้าบุคคลที่ 11-13% จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งเป้าเติบโต 2-4% และสินเชื่อบรรษัทธุรกิจ ตั้งเป้าเติบโต 1-3% 2.NIM ตั้งเป้าที่ 3.1-3.3% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย 3.รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) ตั้งเป้าเติบโตเล็กน้อยที่ Low Single Digit จากธุรกิจบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมรับจากการให้สินเชื่อ และธุรกิจจัดการกองทุน

4.NPL Ratio (Gross) ตั้งเป้าที่ 4.0-4.5% 5.Credit Cost ตั้งเป้าที่ Up to 160 bps ภายใต้สมมติฐานเกี่ยวกับโควิด-19 รวมทั้งการที่ธนาคารยังคงใช้หลักความระมัดระวังและนโยบายทางการเงินที่รอบคอบ ในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และ 6.Cost to Income Ratio ตั้งเป้าที่ Mid-40s โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนและการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity) รวมถึงการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต