ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ครึ่งหลังปี 2560

31

ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ครึ่งหลังปี 2560 ทีเอ็มบี แนะติดตามสถานการณ์ กรณีการปรับท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปต่อนโยบายการเงิน

นโยบายการเงินจะมีบทบาทต่อทิศทางตลาดการเงินในครึ่งปีหลัง

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจตลาดเงิน ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ในปี 2560 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าระดับเป้าหมายของผู้กำหนดนโยบายการเงิน โดยชี้ว่าในช่วงต้นปีตลาดการเงินเริ่มต้นด้วยการตอบรับต่อนโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ (แผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้น (Reflation) แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางงบประมาณและการต่อรองทางการเมือง ทำให้นโยบายที่เคยประกาศไว้ยังไม่เป็นรูปธรรม ตลาดการเงินจึงมีความคาดหวังลดลง และค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐกลับมีทิศทางอ่อนค่า ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลต่อตลาดการเงินมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ตลาดการเงินได้รับรู้ไปแล้ว และถูกลดทอนผลกระทบจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลก ที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากมาตรการการเงินของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น และในช่วงเวลาเดียวกัน ความกังวลต่อความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปผ่อนคลายลงอย่างมากเมื่อผลการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ได้ตอบรับผู้นำที่ไม่ได้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง (Conservatism and Protectionism) รวมถึงผลการเลือกตั้งในอังกฤษได้ลดทอนอำนาจต่อรองของอังกฤษที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพื่อขอออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป ผลดังกล่าวทำให้ในครึ่งปีแรกจึงได้เห็นความผันผวนของตลาดการเงินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (Low Implied Volatility) กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดยุโรปและตลาดเกิดใหม่ และมีผลให้ค่าเงินประเทศเหล่านี้รวมทั้งเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

สำหรับครึ่งหลังของปี 2560 ทีเอ็มบียังมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่นโยบายการเงินจะกลับมามีบทบาทมากขึ้นต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และสภาพคล่อง นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งมีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกเป็นครั้งที่สามในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมทั้งเตรียมปรับลดขนาดงบดุลภายใต้มาตรการ QE (Balance Sheet Reduction) ที่คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปลายปี แม้ว่าการลดขนาดสินทรัพย์ในระยะเริ่มต้นจะมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเงินที่อัดฉีดเพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน แต่ถือเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในระยะต่อไป โดยทีเอ็มบีประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะเข้าสู่จุดสูงสุดในปีหน้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและจะกระทบต่อตลาดการเงินโลกและของไทยในระยะต่อไป คือ การส่งสัญญาณจำกัดและ/หรือ ปรับลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ แต่การปรับเปลี่ยนท่าทีในนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปถือเป็นปัจจัยอ่อนไหวที่จะมีผลกระทบต่อการคาดการณ์ของตลาดการเงิน โดยหากพิจารณาจากข้อมูลอดีตในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศจะหยุดอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม (Taper Tantrum) ตลาดการเงินก็มีการปรับตัวและผันผวนอย่างรุนแรงก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มดำเนินการจริง สถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก หากธนาคารกลางยุโรปประกาศจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปถึงค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในประเทศเกิดใหม่ที่จะเผชิญกับการไหลออกของเงินลงทุนกลับสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

มองเงินบาทครึ่งปีหลังยังมีเสถียรภาพและอาจแข็งค่าได้อีก

ที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าชัดเจน แต่ยังไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาก เมื่อพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate- REER) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รับกระแสเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิเพื่อแสวงหาส่วนต่างผลตอบแทน และเป็นแหล่งพักเงินในภาวะที่ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ใช่ประเทศเป้าหมายหลักด้านการลงทุนจึงมีสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทของนักลงทุนต่างประเทศไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะต่อไป ทีเอ็มบี ประเมินว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้อีกในช่วง 33.60-33.70 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงปลายปีนี้ โดยคาดว่าไทยจะยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง แต่กระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในทางลบ เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาทและสกุลดอลล่าร์สหรัฐ มีแนวโน้มแคบลง หากค่าเงินบาทเป็นไปตามที่คาดการณ์จะเป็นผลบวกกับกลุ่มผู้นำเข้า ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาป้องกันความเสี่ยงบางส่วนจากอัตราแลกเปลี่ยนหากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อ อย่างไรก็ตาม ทีเอ็มบี แนะนำให้ผู้ที่ต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต้องติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมรับมือในกรณีเลวร้ายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้ง ในปีนี้ และลดขนาดสินทรัพย์ในปริมาณมากและเร็วกว่าที่เคยประกาศ) ประกอบกับมีความชัดเจนว่าธนาคารกลางยุโรปประกาศหยุดอัดฉีดสภาพคล่องในอนาคตอันใกล้ ในกรณีหลังจะส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนมาก และจะทำให้ค่าเงินบาทมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้ถึง 34.50-35.00 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ

คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย แต่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้จะขยับขึ้น

ที่ผ่านมาสภาพคล่องสกุลเงินบาทที่มีอยู่สูง และมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศ เป็นปัจจัยกดดันให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงจากต้นปี โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 3 ปี เนื่องจากปริมาณพันธบัตรมีไม่เพียงพอกับความต้องการลงทุน เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการลดปริมาณพันธบัตรออกใหม่ อย่างไรก็ตาม ในครึ่งหลังของปี เราประเมินว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสที่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาราคาพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสที่จะเผชิญกับแรงขายทำกำไร แม้จะคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่อัตรา 1.50% ต่อปี ต่อเนื่องไป แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นตัวกดดันให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างสินทรัพย์สกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศปรับตัวแคบลง จนทำให้ในตราสารหนี้ไทยในมุมมองของนักลงทุนต่างประเทศมีความน่าสนใจลดลง โดย ทีเอ็มบี คาดว่า ณ สิ้นปี 2560 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 10 ปี มีโอกาสจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.67% ต่อปี จากปัจจุบันที่แกว่งตัวอยู่ในช่วง 2.45% – 2.55% ต่อปี