กรมการแพทย์ แนะแนวทางดูแลสุขภาพกาย-ใจ ผู้สูงวัย รับมือโควิด-19

15
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวทางการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19  แนะนำควรฉีดวัคซีนลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เปิดเผยแนวทางการดูแลผู้สูงอายุภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรคโควิด – 19 กับผู้สื่อข่าวว่า ในช่วงระยะเวลาเช่นนี้ สิ่งที่ส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุนอกจากทางร่างกายที่ผู้สูงอายุจะมีโอกาสติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มวัยอื่นแล้ว ยังกระทบกับสุขภาพสมองและสุขภาพจิตอีกด้วย เนื่องด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การไปมาหาสู่ในหมู่ญาติมิตรเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจของลูกหลานที่กระทบถึงความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

โดยลักษณะของผู้สูงอายุที่พบได้ทั่วไปมักแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามปกติ
  2. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพทั้งแข็งแรงและไม่แข็งแรง แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตค่อนข้างติดบ้าน
  3. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง และมีภาวะติดเตียง

โดยแต่ละกลุ่ม ต่างมีความต้องการด้านวิธีปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพกาย สมอง และสุขภาพจิตแตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามปกติ เป็นกลุ่มที่ต้องการกิจกรรมที่ค่อนข้างสร้างความตื่นตัว สอดคล้องกับสุขภาพกายที่ยังแข็งแรง อยู่ในภาวะ Active aging จึงเหมาะกับกิจกรรมเช่น การเดินเร็วออกกำลังกายทั้งในและนอกบ้าน การปลูกต้นไม้ ซึ่งอาจเลือกทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงเช้าตรู่ที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เพื่อลดการพบปะและการสัมผัสกับผู้อื่น กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพทั้งแข็งแรงและไม่แข็งแรง แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตค่อนข้างติดบ้าน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความต้องการกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องออกแรงมาก แต่เน้นไปที่การดูแลสุขภาพจิตใจ กล่าวคือ การมีงานอดิเรกที่สามารถทำได้เองที่บ้าน เช่น ร้องเพลง ทำงานศิลปะที่แปลกใหม่เพื่อฝึกสมอง หรือหากออกกำลังกาย ควรเป็นไปในลักษณะไม่หักโหม และมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มี

สุขภาพไม่แข็งแรง และมีภาวะติดเตียง กลุ่มนี้จะไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆที่ออกแรงได้มากอยู่แล้ว หัวใจสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะเน้นที่ผู้ดูแลเป็นสำคัญ การรักษาความสะอาด การกายภาพบำบัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะข้อติดและการพลิกตัวเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ คือภารกิจสำคัญของผู้ดูแล อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม บุตรหลานยังควรให้ความใส่ใจในเรื่องการติดต่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่ได้พบปะ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุกลุ่มใด ควรโทรศัพท์ หรือ สื่อสารทาง VDO Call เมื่อสะดวกเพื่อประคับประคองสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกทำกิจกรรมนอกบ้าน สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ  กรมการแพทย์ ได้จัดทำแอปพลิเคชัน “สูงอายุ 5G” สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการสูงอายุและแนวทางการจัดการ โดยพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกเหนือจากจะเป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงอาการสูงอายุแล้ว ยังมีเกมส์ฝึกสมอง รวมทั้งเกมส์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายได้เองที่บ้าน ซึ่งสามารถดูแลสุขภาพกาย-ใจ ของผู้สูงอายุได้พร้อม ๆ กัน โดยขณะนี้สามารถดาวน์โหลดได้ในระบบ Android และในอนาคตอันใกล้จะสามารถดาวน์โหลดในระบบ IOS

ส่วนประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุนั้นสามารถช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และเสียชีวิตจากโควิดได้ค่อนข้างมาก แต่ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งบางโรคอาจมีผลทำให้วัคซีนตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันได้น้อย อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงในการต้องนอนโรงพยาบาลหรือห้องไอซียูได้ถึง 80-90% แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อและนำเชื้อมาแพร่สู่ผู้สูงอายุ แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว เพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น นพ.สกานต์ กล่าวทิ้งท้าย