“เด็กแรกเกิดต้องรอด”ร่วมจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อทารกแรกเกิดที่แม่ติดเชื้อโควิด-19

13

“เด็กแรกเกิด” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิด-19 เพราะปัจจุบันมีกลุ่มแม่อุ้มท้องที่ติดเชื้อและเจ็บท้องคลอด แต่เพื่อไม่ให้เด็กทารกแรกเกิดที่คลอดออกมานั้น ได้รับเชื้อโควิด-19 จำเป็น ต้องมีการดูแลมารดา และทารกอย่างถูกต้อง

จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ในคุณแม่ติดเชื้อ แม้มีโอกาสถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ไม่มากนัก แต่หากกระบวนการดูแลทั้งการคลอด หลังคลอด และที่บ้าน ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะทำให้เด็กแรกเกิดมีโอกาสติดเชื้อไปด้วย ฉะนั้น โรงพยาบาลเด็ก หนึ่งในด่านหน้าที่รับดูแลเด็กแรกเกิดที่ป่วยจึงได้ริเริ่มโครงการ “เด็กแรกเกิดต้องรอด” เพื่อเตรียมสถานที่และอุปกรณ์สำหรับรองรับการดูแลทารกแรกเกิดที่มีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 หรือคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อ

นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก กล่าวว่า “สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือในชื่อเดิมคือ รพ.เด็ก เป็น รพ.รัฐบาลแห่งเดียวในประเทศไทยที่รับดูแลแต่ผู้ป่วยเด็กเท่านั้น มีแผนกต่างๆสำหรับเด็กครบถ้วนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลผู้ใหญ่ ให้การดูแลตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึง 15-18 ปี โดยหน่วยทารกแรกเกิด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกแรกเกิดของกรมการแพทย์ ให้การดูแลทารกที่คลอดที่ รพ.ราชวิถีทุกราย ทั้งทารกปกติที่อยู่กับมารดา และทารกที่มีอาการป่วยซึ่งจะได้รับการส่งต่อมารับการรักษาที่สถาบันฯ

นายแพทย์เสรี ตู้จินดา

นอกจากนี้ ยังให้การดูแลรักษาทารกวิกฤต หรือมีปัญหาซับซ้อนที่ส่งต่อมาจาก รพ.ทั่วประเทศ โดย รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็นรพ.ศูนย์ขั้นสูงระดับตติยภูมิ และให้การดูแลและรับส่งต่อมารดาที่มีความเจ็บป่วยซับซ้อนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันสถิติมารดาคลอดประมาณ 400–500 รายต่อเดือน พบจำนวนมารดาที่เป็นโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 10 รายในเดือนพฤษภาคม เป็น 29 รายในเดือนมิถุนายน และในเพียงแค่ 11 วันแรกของเดือนกรกฎาคมนี้ พบมารดาที่ติดเชื้อแล้วถึง 16 ราย รวมพบเป็น 55 ราย”

นายแพทย์เสรี กล่าวเพิ่มเติมว่า มารดาที่เป็นโรคโควิด 19 ต้องได้รับการดูแลในห้องหรือเต็นท์ความดันลบ ทั้งก่อนคลอด ขณะคลอดและหลังคลอด รวมทั้งห้องผ่าตัดความดันลบหากจำเป็นต้องผ่าคลอด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยจากการแพร่กระจายเชื้อสู่ทารกและบุคลากรผู้ดูแล จากมารดาป่วยด้วยโรคโควิด-19 ทั้งหมด 55 ราย ใน รพ.ราชวิถี ได้รับการผ่าตัดคลอดประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งมารดาหลายคนมีภาวะปอดบวมอย่างรุนแรง ซึ่งยากต่อการรักษากว่าผู้ป่วยอื่น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดในการดูแลรักษา

ซึ่งอาการของมารดาจะส่งผลกระทบต่อทารก และมารดาที่ติดเชื้อมักมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือทำให้อาการของมารดา และ/หรือ ทารกทรุดลง จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน  ส่งผลให้ทารกส่วนหนึ่งต้องคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะขาดออกซิเจน ต้องได้รับการกู้ชีพหลังคลอด ใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นของทั้งมารดาและทารก  หลังคลอดทารกที่มีอาการ โดยเฉพาะทารกที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำเป็นต้องอยู่ในห้องความดันลบ แยกจากทารกอื่นเพื่อลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อ จนกว่าจะทราบผลตรวจที่อายุ  48 ชั่วโมง

ทั้งนี้ จากรายงานการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ มีโอกาสติดเชื้อจากมารดาค่อนข้างน้อย ประมาณ 1-3% แตกต่างกันตามรายงานในแต่ละที่ จากการที่สถาบันฯ ดูแลทารกทั้งหมด 55 ราย พบว่าอาจติดเชื้อจากมารดาตั้งแต่ในครรภ์ 1 รายซึ่งเป็นทารกส่งต่อมาจาก รพ.อื่น และทารกอีก 5 ราย ติดเชื้อจากคนในครอบครัวหลังคลอด นั่นคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้และอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากได้ ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่น้อยลง

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง

ด้าน นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ในภาวะปกติ เตียงของทารกที่สถาบันฯ ซึ่งมีจำนวน 70 เตียงรองรับผู้ป่วยเต็มจำนวนเกือบตลอดเวลา แต่สถานที่ไม่พร้อมที่จะรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ได้หากเกิดการระบาดขึ้น ทางหน่วยทารกแรกเกิดจึงได้เตรียมห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วยทารกแรกเกิดจำนวน 2 ห้องไว้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งได้รับความกรุณาอย่างยิ่งจากทีมวิศวกรจุฬาฯรุ่น 75 และชุมชนคนอินเดียในประเทศไทย (Thai-Indian community) ทำให้เราสามารถให้การดูแลทารกได้อย่างดีในช่วงแรก

แต่จากสถานการณ์ขณะนี้ พบว่าเตียงในห้องความดันลบที่เรามีอยู่ไม่พอต่อการรองรับผู้ป่วย  ในบางช่วงมีทารกต้องใช้ห้องในเวลาเดียวกันมากกว่าที่จะรองรับได้  รวมทั้งทารกที่ติดเชื้อโควิด-19 จะใช้เวลาอยู่ใน รพ.เป็นเวลานาน 10-14 วัน ทำให้ไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มได้อีก ซึ่งจะเป็นปัญหามากในอนาคตอันใกล้  อีกทั้ง จากจำนวนทารกแรกเกิดที่ป่วยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เราจำเป็นต้องขยายเตียง ICU และ semi- ICU เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อสามารถให้การดูแลทารกป่วยด้วยโควิด-19 ได้ จำนวน 6-8 ราย ในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นอกจากภาระดูแลทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นโควิด 19 ทั้งที่ รพ.ราชวิถี  และสถาบันฯ เอง เรายินดีที่จะช่วยแบ่งเบาภาระ รพ.ที่ไม่สามารถดูแลทารกที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้

ดังนั้น หลายท่านอาจได้ยินชื่อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีหรือรพ.เด็ก เป็นครั้งแรก แต่หลายท่านอาจรู้จักเราในฐานะที่เป็นที่พึ่งแห่งหนึ่งในการดูแลเด็กเสมอมา ในวิกฤตปัจจุบันเด็กก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะทารกแรกเกิดมีความเปราะบางยากต่อการดูแล ขอโอกาสให้เด็กและทารกสามารถเข้าถึงการรักษา ด้วยการบริจาคของท่านเพียงคนละเล็กน้อย จะสามารถสร้างโอกาสชีวิตให้กับอนาคตของชาติ เราจะร่วมกันสู้เพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน” นายแพทย์อดิศัย กล่าวปิดท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถร่วมบริจาคเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ สำหรับเด็กทารกแรกเกิดที่แม่ติดเชื้อจากโควิด-19 ได้ที่ชื่อบัญชี สมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 051-2-09873-5 โดยระบุ “เด็กแรกเกิดต้องรอด” (ใบเสร็จรับเงินสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า) โดยส่งหลักฐานการโอนเงิน พร้อมชื่อ-สกุล เบอร์โทร เพื่อรับใบเสร็จรับเงิน ที่ LINE OA: @thaichf24 หรืออีเมล thaichf24@gmail.com สอบรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-354-8321 หรือ 090-663-1479