สัญญาณเตือนปวดหลังที่ต้องถึงมือหมอ

10

ศูนย์กระดูกสันหลังโรงพยาบาลนครธน ที่เกิดจากความร่วมมือกับบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ค แนะผู้ที่ปวดหลังรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากรู้สึกปวดหลังจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยทีมแพทย์ของศูนย์ฯ พร้อมให้คำแนะนำ Last Opinion และใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องรักษาได้หายในวันเดียว

นายแพทย์วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ และศัลยแพทย์ระบบประสาท กล่าวว่า อาการปวดหลังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ,กระดูกหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง หลายอาการสามารถหายเองได้ หรือรักษาได้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัด เช่น การใช้ยา หรือการทำกายภาพบำบัด เป็นต้น แต่มีกลุ่มอาการสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและควรต้องรีบมาพบแพทย์ ได้แก่ ปวดจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น ลุกยืน นั่ง หรือเดิน และมากขึ้นเมื่อขยับยืนหรือเดิน ปวดร้าวตามเส้นประสาทจากหลังลงไปถึงขาและมีอาการชา อ่อนแรง ปวดแขนหรือขาร่วมด้วย หรือรู้สึกปวดเหมือนมีไฟฟ้าช็อต ปวดแนวกระดูกกลางหลัง หรือปวดต่อเนื่องนานเกิน 4 สัปดาห์ หรือปวดเฉียบพลัน ที่ไม่ได้เกิดจากการยกของหนัก ออกกำลังกาย หรือขยับตัวผิดท่า หรืออุบัติเหตุ

“อาการปวดเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดความผิดปกติกับกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาท หรือมีโพรงกระดูกสันหลังตีบที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคที่มีความรุนแรง มีผลสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคน” นายแพทย์วีระพันธ์กล่าว

การวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้รักษาได้ตรงจุด และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการวินิจฉัยโรคนี้ต้องอาศัยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูง และเครื่องมือที่ทันสมัย

แต่คนส่วนใหญ่มักรู้สึกกลัว จึงไม่ได้มาหาหมอทันที เพราะเห็นว่าการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นเรื่องใหญ่ ใช้เวลานาน และมักจะไปหาความเห็นจากแพทย์หลายๆ ท่านอย่างที่เรียกว่า Second Opinion ก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาและทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดนานขึ้น กังวลนานขึ้น และทำให้อาการปวดหรือปัญหาของกระดูกสันหลังรุนแรงเพิ่มขึ้น

นายแพทย์วีระพันธ์ ควรทรงธรรม

“ศูนย์กระดูกสันหลังโรงพยาบาลนครธนที่เกิดจากความร่วมมือกับบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ค ทราบดีถึงความกังวลของผู้ป่วย เราจึงทำหน้าที่เป็นผู้ให้ Last Opinion โดยมีทีมแพทย์ที่ประกอบด้วยแพทย์ระดับซีเนียร์ร่วมให้ความเห็นกับแพทย์เจ้าของไข้ รวมเป็นทีมใหญ่ และจะต้องมีแพทย์อย่างน้อย 4 ท่านที่ให้ความเห็นตรงกัน จึงจะทำการรักษา เท่ากับว่าผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปหา Second Opinion จากที่ไหน และได้รับ Last Opinion จากทีมแพทย์ของศูนย์ฯ ได้เลย” นายแพทย์วีระพันธ์กล่าว

และสำหรับผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท และโพรงกระดูกสันหลังตีบ 2 โรคนี้ ศูนย์ฯ มีเทคโนโลยีทันสมัย สามารถผ่าตัดโดยการส่องกล้อง ทำให้มีแผลเล็กเพียง 8 มิลลิเมตรหรือเพียงปลายนิ้วก้อย ใช้เวลาผ่าตัดและรอให้ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ก็กลับไปพักฟื้นที่ห้องผู้ป่วย และสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้นโดยการเดินได้ด้วยตนเอง