“อาชีพต้องเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ รับ NEW NORMAL” หนุนนโยบายรัฐฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

22

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเวทีสัมมนาออนไลน์ ระดมแนวคิดช่วยคนในอาชีพปรับธุรกิจ สร้างอาชีพใหม่ให้พร้อมรับมือโควิด -19 และยกระดับการรับรองคุณวุฒิตามมาตรฐานสากล

นคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดงานสัมมนาโครงการพัฒนาองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เข้าสู่มาตรฐานสากล (ISO/IEC 17024) และแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพระบบการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ตามมาตรฐานสากล ได้แก่ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และโรงเรียนเสริมสวยชลาชล

นครกล่าวถึงการพัฒนากำลังคนรองรับความต้องการของตลาด โดยบูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน  เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม  และพัฒนามาตรฐานอาชีพใน 52 สาขาวิชาชีพ รวม 835 อาชีพ  พัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อน Upskill – Reskill ด้วยหลักสูตรออนไลน์สำหรับคนในอาชีพ ผ่านแนวทางเรียนรู้ตลอดชีวิต”

“คนในอาชีพและธุรกิจต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด –19 สคช. ขอให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการโดยได้ สคช. ได้รับนโยบายของภาครัฐ เช่น การจัดอบรมออนไลน์สร้างอาชีพสร้างงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศในการพัฒนามาตรฐานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในด้านวิชาชีพด้านบริการสุขภาพของไทยอย่างเป็นรูปธรรม”

“สำหรับโครงการพัฒนาองค์กรที่ทำหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลฯ นี้ สคช. ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอพัฒนาองค์กร 39 แห่ง ให้มีระบบการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานสากล และขอให้กำลังใจองค์กรรับรองฯ อีก 6 แห่งที่อยู่ระหว่างขอรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17024 ให้ผ่านการรับรองได้สำเร็จ” นายนครกล่าว

ด้าน ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เน้นย้ำถึงความสำคัญของคุณวุฒิวิชาชีพต่อการ การสร้างโอกาสให้คนในอาชีพเข้าถึงการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพด้วยการเทียบโอนประสบการณ์ทำงาน พร้อมฉายภาพอาชีพในยุคอนาคต

“สคช. มีกรอบคุณวุฒิวิชาชีพที่รองรับการพัฒนาความรู้ความสามารถของคนในอาชีพตลอดช่วงชีวิต  ให้คนไทยมีมีความรู้และทักษะที่เป็นไปตามมาตรฐานอาชีพ มีการ Refresh – Upskill – Reskill ตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อนับสนุนการประกอบอาชีพ โดยมีแรงงานวิชาชีพกว่า 37 ล้านคนเป็นเป้าหมาย  ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมการประเมินแล้วกว่า 227,000 คน ผ่านการประเมิน 123,898 คน อยู่ระหว่างการประเมิน 13,858 คน โดยการรับรองวิชาชีพด้านต่างๆ ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน”

“เพื่อก้าวสู่อนาคตกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เทรนด์อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลจะทวีความสำคัญมากขึ้นหลังยุคโควิด เช่น อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce, ธุรกิจการเรียนการสอนออนไลน์, การบริการสาธารณสุขทางไกล, การพัฒนา App, อุตสาหกรรม E-Sport บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ โดย สคช. พร้อมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ”

วรชนาธิป จันทนู รอง ผอ.สคช. กล่าวเสริมว่า “ ทิศทางและนโยบายของ สคช. มุ่งพัฒนาคน ให้เป็นมืออาชีพตัวจริง มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ใช้นวัตกรรมระบบการเทียบโอนประสบการณ์ ระบบฐานข้อมูลวิชาชีพเพื่อต่อยอดอาชีพ การสร้าง Platform อัจฉริยะเพื่อบริหารข้อมูลด้านกำลังคนและพัฒนาสมรรถนะด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย การฝึกอบรมออนไลน์เติมทักษะและสมรรถนะจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ  การต่อยอดความรู้ด้าน E-Commerce & Digital Literacy และมีการพัฒนา App “ปักหมุดมืออาชีพ” เพื่อช่วยค้นหาผู้ให้บริการที่เป็นมืออาชีพ และกำลังพัฒนาสู่ E- Commerce แพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ”