โรคพิษสุนัขบ้า มักจะเข้าใจผิดกันไปว่า จะเกิดเฉพาะช่วงหน้าร้อน เพราะตีความคำว่า “บ้า” ที่อาจจะมาจากสภาพอากาศที่ทำให้น้องหมาหงุดหงิด แต่จริงๆ แล้ว โรคนี้เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส และเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล และไม่เฉพาะสุนัขเท่านั้น
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง และถ้าเป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย ในปัจจุบันยังไม่มียาอะไรที่จะรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเนื่องจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัจบ้าจากสัตว์ที่เป็นโรค คนสามารถติดโรคจากสัตว์เหล่านี้ได้ 2 ทางคือถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด และการถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น นอกเสียจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน โดยคนนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด
สำหรับสถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาผลการตรวจหัวสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ยังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2560 สุนัข แมวทั่วประเทศป่วยเป็นโรคดังกล่าวกว่า 800 ตัว และเริ่มปี 2561 เดือนเดียวพบสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว ทำให้ยังคงพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีพบสัตว์ป่วยโรคนี้
การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการชะล่าใจในการป้องกัน และรักษาโรคเบื้องต้น
จากการสำรวจความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าของคนไทยพบว่า คนไทยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องโรคดังกล่าว ร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้า “รักษาหาย” และร้อยละ 59 คิดว่า “ไม่เป็นไร” เมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ
กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ ถ้าประชาชนรู้จักการป้องกันตนเอง ดังนี้
- อย่า 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่งกับสุนัขคนอื่น หรือสุนัขที่มีการผิดปกติ
- เมื่อถูกสุนัข หรือแมว ข่วน หรือกัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
- รีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง เพื่อการป้องกันสูงสุด
- เมื่อถูกกัด ควรกักสุนัข/แมวตัวที่กัดข่วน ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ที่กักตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อการส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
- เจ้าของสุนัข เเละเเมวควรนำสัตว์เลี้ยงของท่านเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบมากในสุนัขและแมว โดยติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล คนสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการถูกกัด ข่วนจากสุนัขหรือแมว เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะการแสดงอาการของโรคนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจนานเป็นปี เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว จะรักษาไม่หายและเสียชีวิตทุกราย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการลงไปยังพื้นที่ที่มีสุนัขบ้า เร่งประสานงานให้มีการประชาสัมพันธ์ และค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีน รวมทั้งกำชับ อสม.ให้เคาะประตูบ้าน เพื่อเร่งระดมค้นหา และติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคมารับวัคซีนให้ครบทุกราย
หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 02-590-3177-8