กรมการพัฒนาชุมชน คัดผลิตภัณฑ์เด่น 48 โอทอป ประเภทของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก ปั้นขึ้นแท่นสินค้าพรีเมี่ยมเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ออฟไลน์ ตามโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์โอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา
กรมการพัฒนาชุมชน มอบให้สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน โดย วรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐานประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ภายใต้แนวคิดหลักการตลาดนำการผลิต “ดูดีมีสไตล์” ว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดทางความคิดจากผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดทั้ง 4 หน่วยงาน
ได้แก่ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล, สุขสยาม ห้างสรรพสินค้า ไอคอนสยาม, บริษัท ไพร์ซซ่า จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม price za เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา และเทพช็อป ร้านค้าออนไลน์ LnwShop คัดเลือกผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปที่เข้าร่วมโครงการประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 475 รายจากทั่วประเทศให้เหลือสุดยอดผลิตภัณฑ์เด่น จำนวน 48 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนา 4 ด้าน
คือ ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้างตราสินค้าและด้านการตลาดต่อยอดไปสู่สินค้าพรีเมี่ยมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงการขยายตลาดให้กว้างขึ้นทั้งในรูปแบบหน้าร้านหรือออฟไลน์ และตลาดออนไลน์
โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์โอทอปกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐานประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ภายใต้แนวคิดหลักการตลาดนำการผลิต “ดูดีมีสไตล์” เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดและกลุ่มเป้าหมาย
โครงการดังกล่าวเปิดให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปกลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 475 ราย ทั่วประเทศ เข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้างตราสินค้าและด้านการตลาด ในรูปแบบบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (E -Learning) บนระบบออนไลน์ของ Line Official Account : Tamdeemark ซึ่งมีจำนวน 14 หลักสูตร พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำตลอดโครงการ
“ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งขณะนี้ทีมที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้เริ่มให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป ถือเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ ที่จะคอยให้คำแนะนำด้านต่างๆเพื่อการพัฒนาสินค้ายกระดับให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้ง 48ผลิตภัณฑ์ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์เด่นที่มีคุณภาพสู่การแข่งขันในตลาดได้ เพียงแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ เพิ่มสีสันให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยเน้นให้ตอบโจทย์การขนส่งในปัจจุบัน” วรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมทั้ง 48 ผลิตภัณฑ์เป็นที่เรียบร้อย กรมการพัฒนาชุมชน จะร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อที่จะนำเข้าสู่กิจกรรมทดสอบตลาดจริง ให้เกิดการจัดจำหน่ายในช่องทางที่หลากหลายเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ต่อยอดกลุ่มเป้าหมาย เกิดผลกำไรนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากรวมทั้งเศรษฐกิจหลักของประเทศอีกด้วย