บำรุงราษฎร์ เปิด ‘ศูนย์เต้านม’ ครอบคลุมทุกปัญหาของเต้านมในเพศหญิงและเพศชาย

109

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2563 มีผู้หญิง 2.3 ล้านคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 684,996 คนทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติรายงานว่ามีผู้เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปี 2563 อยู่ที่ 39.8% สูงเป็นอันดับแรกของเพศหญิง ส่วนใหญ่จะมีอายุ 45-55 ปี ซึ่งอาการของโรค ส่วนใหญ่จะตรวจพบอยู่ในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ตามลำดับ

รศ.นพ. วิชัย วาสนสิริ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า จากสถิติต่างๆ จะเห็นได้ว่า เรายังคงต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญและตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากหากตรวจพบในระยะเริ่มต้น ก็มีโอกาสรักษาหายและอัตราการรอดชีวิตสูง โดยมีสาเหตุและหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่ เมื่อมีอายุมากขึ้น ในวัย 40 ปีขึ้นไป  พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันสัตว์สูงและสัตว์เนื้อแดง การใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ทั้งโรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย

รศ.นพ. วิชัย วาสนสิริ

รวมไปถึงระยะเวลาที่ร่างกายสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน คือในผู้หญิงที่เริ่มมีรอบเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี หรือรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ผู้ที่เคยได้รับรังสีบริเวณหน้าอกบ่อยๆ, มารดาที่มีบุตรคนแรกหลังอายุได้ 35 ปี, ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น แม่ หรือพี่น้อง มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี ก็ยิ่งมีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ก็มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งปัจจุบันบำรุงราษฎร์มีบริการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนได้”

โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เปิด “ศูนย์เต้านม” เพื่อยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ (Center of Excellence) ที่พร้อมให้บริการในทุกมิติ ทั้งการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับปัญหาของเต้านมในเพศหญิงและเพศชาย ตั้งแต่การป้องกัน การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญการและประสบการณ์ในการดูแลรักษาโรคทางเต้านมโดยเฉพาะ ครอบคลุมทุกการรักษา

อาทิ การผ่าตัดแบบสงวนเต้า การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel lymph node biopsy) การใช้ไอโซโทปรังสี (Radio isotope) การใช้สารเรืองแสงเพื่อดูตำแหน่งของก้อนเนื้อ (ICG: Indocyanine green) กำจัดเนื้องอกในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรงด้วยความเย็นจัด (Ice cure) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรักษา ด้วยความรู้ความชำนาญของบุคลากร เทคโนโลยีที่ทันสมัยและการบริการที่รวดเร็วไร้รอยต่อโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม เพราะจะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยเบื้องต้นสามารถตรวจคัดกรองได้หลายวิธี คือ การคลำเต้านมด้วยตนเอง (BSE, Breast Self-Examination) การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) และการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม แนะนำให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) จะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติและต้องการตรวจหาเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้น ปัจจุบันบำรุงราษฎร์ ได้มีการนำเทคโนโลยี AI Lunit มาใช้ร่วมกับการทำ Mammogram ช่วยให้รังสีแพทย์และแพทย์ผู้รักษา อ่านข้อมูลได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การวางแผนการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

 “ปัจจุบัน ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมอยู่หลายประการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคมะเร็งเต้านมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นกับผู้ชายได้ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยกว่า 1% โดยจะมีสาเหตุและอาการของโรคคล้ายกับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง นอกจากนี้ ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเท่าๆ กันไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของหน้าอก สำหรับเครื่องดื่ม เช่น นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ น้ำมันมะพร้าว ไม่ได้เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านม ถึงแม้จะมีส่วนประกอบบางอย่างที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงก็ตาม รวมถึงการทำแมมโมแกรมก็ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการมะเร็งเต้านมเช่นกัน เพราะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันจึงมีการใช้ปริมาณรังสีที่ค่อนข้างน้อย” รศ.นพ. วิชัย  กล่าวปิดท้ายว่า