26 ภาคีเครือข่ายทันตสุขภาพ ประกาศเจตนารมณ์ ขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต” ป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปาก สร้างทุกข์เมื่องสูงวัย สสส. เผย ฟันผุ เสี่ยง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผลักดัน คนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบบริการทันตกรรมเท่าเทียม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และเครือข่ายวิชาชีพด้านทันตกรรม 26 องค์กรประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนนโยบาย 80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิตเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสิทธิการเข้าถึงระบบบริการด้านทันตกรรม พร้อมจัดเวทีเสวนาขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้าเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในปี 2565 ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ โดยจะมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 สุขภาพช่องปากเป็นมิติทางสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญ โดยปัญหาช่องปากที่พบในผู้สูงอายุ ได้แก่ 1.โรคฟันผุและโรคปริทันต์ 2.มีฟันธรรมชาติเหลือน้อยกว่า 20 ซี่ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงเร่งผลักดันให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทันตกรรมเท่าเทียม มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุ 60 – 75 ปี ต้องมีฟันธรรมชาติและฟันเทียมเหลือใช้อย่างน้อย 20 ซี่ เพราะการมีปัญหาช่องปากหรือมีฟันไม่เพียงพอ สร้างความทุกข์ให้กับผู้สูงอายุในอนาคต
“สุขภาพช่องปากมีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพราะอาจทำให้เกิดโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน รวมถึงการสูญเสียฟันจำนวนมากทำให้เกิดภาวะทุพโภชนา ที่มีผลต่อน้ำหนักตัว และสุขภาพจิตของทุกคน สสส. ได้ร่วมบูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้สังคมเห็นความสำคัญของสุขภาพฟันที่ดี การประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นเดินหน้ารณรงค์นโยบายฟันดีสำหรับคนทุกช่วงวัยเพื่อสุขภาวะที่ดี”ดร.สุปรีดา กล่าว
ทพญ.วรางคนา เวชวิถี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจะให้ผู้สูงอายุในวัย 80 ปี มีฟัน 20 ซี่ ต้องทำไปพร้อมๆ กันหลายมิติ ทั้งการดูแลด้วยตนเองเบื้องต้นว่าควรไปรับบริการทันตกรรมเมื่อใด โดยต้องรู้สิทธิพื้นฐาน และอีกส่วนคือการเข้าถึงบริการที่ควรเน้นด้านการส่งเสริมและป้องกัน ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพในช่องปากควรเริ่มตั้งแต่วัยก่อนสูงอายุ ด้วยการพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
จากข้อมูลพบว่าคนส่วนใหญ่สูญเสียฟันในช่วงวัยทำงานตอนปลายไปจนถึงอายุ 60 ปี ประมาณ 10 ซี่ และหลังจากนั้นตั้งแต่ช่วงอายุ 60-80 ปี จะสูญเสียฟันอีกประมาณ 10 ซี่ แต่หากตรวจสอบและพบความผิดปกติในช่องปากเบื้องต้นได้ การป้องกันและรักษาจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงสูงวัยได้ และสามารถเก็บรักษาฟันไว้ได้ตาม นโยบาย 80 ปี ฟันดี 20 ซี่