CADT DPU จับมือพันธมิตร เปิดชมรมด้านการบิน หวังตั้งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้-แหล่งหางานแห่งแรกในไทย
น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU และในฐานะเลขาธิการชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ CADT DPU ร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่จัดสอนทางด้านการบิน รวมถึงองค์กรด้านการบินและบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน เปิดชมรม “สถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย” โดยมี สมชาย พิพุธวัฒน์ เป็นประธานชมรม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ค้นคว้างานวิจัย และแหล่งค้นหางานด้านอุตสาหกรรมการบินแห่งแรกของไทย ซึ่งในการประชุมนัดแรกได้พูดคุยถึงประเด็นที่เป็นปัญหาในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันและการจัดหลักสูตรฝึกอบรมอบรมต่างๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการหางานรองรับให้นักศึกษาจบใหม่ด้วย
ในส่วนของภาคการศึกษา CADT DPU ได้ปรับหลักสูตร ป.ตรี เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยหลักสูตรที่ปรับส่วนใหญ่จะสอดรับกับมาตรการของอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การให้บริการบนเครื่องบินต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านการบินและเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข นอกจากนี้สถาบันการบิน มธบ. (DPU Aviation Academy : DAA) ยังได้จัดทำหลักสูตรเพิ่มเติมตามความต้องการของบุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุมัติให้จัดหลักสูตรอย่างเป็นทางการจาก The International Air Transport Association (IATA) จำนวน 4 หลักสูตร คือ 1.การบริการบนเครื่องบิน 2.การปฏิบัติการในท่าอากาศยาน 3.ความปลอดภัยทางด้านการบินและ4.ความตระหนักเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน ซึ่งทั้ง 4 หลักสูตรจะจัดอบรมและเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนก่อนสอบ และจัดสอบเพื่อให้ได้ใบรับรองผ่านการอบรมหรือใบประกาศนียบัตร (Certificate) จาก IATA
“ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา แม้ทางวิทยาลัยจะไม่สามารถจัดการเรียน Onsite ได้ แต่ยังมีการเรียนแบบออนไลน์และมีกิจกรรมจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ให้แก่บุคลากรทางด้านการบินอยู่เสมอ เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น นักศึกษากลับมาเรียนได้ตามปกติ การฝึกบินด้วยเครื่องบินจำลองที่เป็นจุดเด่นของวิทยาลัยสามารถนำไปต่อยอดในวิชาเลือกเสรีเพื่อให้นักศึกษาคณะอื่นได้มีโอกาสฝึกบินด้วย” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว
2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานทางด้านการบินได้รับผลกระทบ รวมไปถึงภาคการศึกษาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากผู้ปกครองอาจขาดความเชื่อมั่นในสายอาชีพนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการบินและการขนส่งผู้โดยสาร ที่เชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้โดยรอบ จึงมั่นใจว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวเร็วๆนี้แน่นอน
นอกจากนี้ IATA ยังได้พยากรณ์ไว้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาคึกคักในปี 2567 ช่วงเวลานั้นความต้องการแรงงานน่าจะมีมากขึ้น ที่สำคัญโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Easter Economic Corridor : EEC) ได้มีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองการบินและเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน ซึ่งในอนาคตอาจเป็นศูนย์ซ่อมแห่งอาเซียน จึงทำให้ธุรกิจทุกภาคส่วนรวมอยู่ในสนามบินดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ส่วนการเปิดให้บริการคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2568 ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักศึกษาจบใหม่ เพราะมีตำแหน่งงานที่ต้องการกว่า 3,000 ตำแหน่ง
น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาคแรงงานในอุตสาหกรรมการบิน นอกจากตำแหน่งงานหลักๆที่เป็นที่รู้จักแล้ว อาทิ นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เป็นต้น ยังมีตำแหน่งงานอีกมากมายที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบ ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ TPQI ได้กำหนดคุณวุฒิวิชาชีพทางด้านการบิน จำนวน 53 สาขาอาชีพ เช่น สาขาบริการภาคพื้นและสนับสนุนการบินภาคพื้นในอาคาร สาขางานเทคนิคและฝึกอบรมอาชีพผู้ฝึกด้านระบบการจัดการความปลอดภัย พนักงานสำรองบัตรโดยสาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานกว่า 2 ล้าน 2 แสน ตำแหน่ง ทั้ง Direct และ Indirect ที่ถูกเลิกจ้างไปในช่วงสถานการณ์โควิด เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ คนกลุ่มนั้นบางส่วนจะเปลี่ยนอาชีพและไม่กลับมาทำงานด้านการบิน ดังนั้นตำแหน่งงานว่างที่เหลือจะเป็นของนักศึกษารุ่นใหม่ที่จบออกไป จึงมั่นใจในอีก 4 ปีข้างหน้านักศึกษากลุ่มนี้จะมีงานรองรับอย่างแน่นอน