สปสช.หนุน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” ชวน อปท. ใช้กลไก “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ” ขับเคลื่อน สร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับพระสงฆ์ เน้นการมีส่วนร่วมท้องถิ่นและชุมชน
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ประกาศใช้เมื่อปี 2560 ภายหลังที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ เพื่อมุ่งให้ทุกฝ่ายร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของพระสงฆ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลประชาชนทั่วประเทศให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข จึงมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ นี้ นอกจากในด้านการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรภาพทางการแพพทย์ ภายใต้สิทธิประโยขน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังมีกลไก “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เพื่อร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์นี้ได้
นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรภาคีต่างๆ ในพื้นที่ ให้เข้ามาบริหารจัดการระบบสุขภาพร่วมกันอย่างแข็งขัน เกิดระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งปัจจุบันมี อปท.จำนวน 7,759 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.78 ของ อปท.ทั่วประเทศที่เข้าร่วม
ทั้งนี้ “พระสงฆ์” อยู่ในกลุ่มเป้าหมายการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ อาทิ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น โดย อปท.สามารถใช้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้านสุขภาพ เพื่อร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการสาธารณสุขเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่งถึงและครอบคลุมในกลุ่มพระสงฆ์เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาระดับปฐมภูมิเชิงรุกที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตพระสงฆ์ รวมถึงการดูแลสุขภาพตนเอง
ซึ่งตรงกับข้อ 7 ของประกาศหลักเกณฑ์ดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.2557 (1) เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพสามารถใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต เพื่อให้กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกออบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ยับนับเป็นกลไกหนึ่ง ในการขับเคลื่อนสุขภาพและสุขภาวะของพระสงฆ์ได้ เนื่องจากมีความสอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ข้อ 19 หมวด 3 ที่ระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน สนับสนุนให้เกิดการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ควบคุมโรค และการจัดการปัจจัยที่คุมคามสุขภาพของพระสงฆ์ โดยใช้งบประมาณ อปท.และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ และแหล่งงบประมาณอื่นๆ
“ภายหลังจากที่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมีผลบังคับใช้ อปท.ที่ได้ร่วมดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ สามารถจัดกิจกรรมเพื่อร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ได้ ผลที่ได้นอกจากเป็นการดูแลสุขภาพและสุขภาวะพระสงฆ์แล้ว พระสงฆ์ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบทบาทในชุมชน ยังเป็นผู้นำด้านสุขภาวะที่ดีให้กับคนในชุมชน นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีได้ โดยหลังจากนี้ สปสช.จะทำหนังสือถึงอปท.ทุกแห่งที่เข้าร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อชี้แจงเรื่องการดำเนินการตามธรรมนุญสุขภาพระสงฆ์ต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว