ชะลอสร้างอ่างเก็บน้ำผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ หวั่นกระทบเงื่อนไขมรดกโลก

60

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก สั่งชะลอโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ทั้ง 7 โครงการ และให้จัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) คาดว่าใช้เวลา​ 2​ ปี

นางสุนีย์​ ศักดิ์เสือ​ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ​ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช​ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบให้ชะลอโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ทั้งหมดออกไปก่อน และให้กรมชลประทานในฐานะเจ้าของโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ​ 2​ ปี

สำหรับขั้นตอนและองค์ประกอบการจัดทำ SEA อยู่ระหว่างการกำหนดขอบเขตและรายละเอียดในการศึกษาโดยจะบูรณาการกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมอุทยานฯ ตลอดจนภาคประชาชน โดยเน้นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษานอกจากเรื่องผลกระทบในแต่ละด้านแล้ว คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องเสนอทางเลือกด้วย เมื่อแล้วเสร็จก็จะนำเสนอให้คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติพิจารณาเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกต่อไป

นอกจากนี้ นางสุนีย์​ กล่าวระหว่างร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ภายใต้หัวข้อ “เขาใหญ่ไปทางไหนดี” ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 22​ มกราคม 2565 ตอนหนึ่งว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก​ สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ได้แสดงข้อกังวลภาวะอันตรายที่อาจจะทำให้เขาใหญ่เสี่ยงต่อการหลุดจากมรดกโลก​

ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ​ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่​ ลุ่มน้ำปราจีน​ บางปะกง​ ปลายลุ่มน้ำมูล​ ซึ่งมีข้อเสนอให้พัฒนาแหล่งน้ำ​ 7-8 โครงการรอบเขาใหญ่​ ทั้งใสน้อย-ใสใหญ่​ คลองมะเดื่อ​ คลองพญาธาร​ ประเด็นนี้คณะกรรมการมรดกโลกมองว่าเป็นภัยคุกคาม​ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณค่าในพื้นที่

ประเด็นต่อมาคือ การลักลอบตัดไม้พะยูง​ซึ่งมีชาวต่างชาติลักลอบเข้ามาตัดไม้อย่างต่อเนื่อง​ และที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด​ โดยเจ้าหน้าที่เขาใหญ่มีการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ถึง​ 70-80% และหัวหน้าอุทยานฯ​ ร่วมเดินลาดตระเวนกับลูกน้องเพื่อเป็นขวัญกำลังใจด้วย

เรื่องที่สามคือ​ กฎหมายใหม่​ที่คณะกรรมการมรดกโลกมองว่าอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อพื้นที่หรือไม่​ และสุดท้ายคือประเด็นการท่องเที่ยว​ เนื่องจากเขาใหญ่มีการกระจุกตัวการท่องเที่ยวอย่างหนาแน่น​ จึงอาจต้องบริหารจัดการเพื่อกระจายการท่องเที่ยวไปในอุทยานแห่งชาติรอบข้างด้วย

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 31 กรกฎาคม 2564 โดยได้มีมติให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 6 ข้อ ดังนี้

1.ให้กำหนดนิยามในการบ่งชี้แผนปฏิบัติการ เพื่อให้มั่นใจว่ามีวิธีการตรวจสอบที่เพียงพอในการวัดประสิทธิผลในการดำเนินการตามคำแนะนำขอคณะผู้ติดตามตรวจสอบ (Reactive Monitoring mission) เมื่อปี 2559

  1. ให้ดำเนินการติดตามผลอย่างใกล้ชิดว่าการออกกฎหมายใหม่ส่งผลต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของแหล่งอย่างไร และให้แน่ใจว่ามีการใช้มาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่แหล่งอย่างผิดกฎหมาย
  2. ให้ดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่ามีมาตรการบรรเทาผลกระทบและการติดตามผลกระทบจากการดำเนินการภายหลังการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมงและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 เพื่อลดผลกระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง
  3. ยินดีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยุติการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 และหาทางเลือกอื่นเพื่อทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่แหล่ง และการยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนลำพระยาธารเพื่อลดผลกระทบทางลบต้อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง และได้รับรายงานว่ามีการพัฒนาโครงการเขื่อนหลายโครงการในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง จึงขอย้ำให้ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่แหล่งอย่างถาวร
  4. ให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงแหล่งมรดกโลกเพื่อรายงานแผนการจัดการและแผนการพัฒนาในอนาคตของพื้นที่ลุ่มน้ำ และสำหรับข้อเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนโดยรอบพื้นที่แหล่งมรดกโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อคณะค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง ให้ระงับการดำเนินการจนกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์จะแล้วเสร็จ และได้รับการตรวจสอบโดยศูนย์มรดกโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)
  5. ให้จัดส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ในปี 2565

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยกรมชลประทานจำนวน 7 แห่ง ซึ่งเข้าข่ายเสี่ยงอันตรายต่อความเป็นมรดกโลก ประกอบด้วย ดังนี้

  1. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว พื้นที่รวม 4,753 ไร่
  2. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จ.นครนายก พื้นที่รวม 1,853 ไร่
  3. โครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 8,500 ไร่
  4. โครงการอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร มีพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่ 5. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด มีพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ 6. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา มีพื้นที่ประมาณ 1,419 ไร่ และ 7. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว พื้นที่ประมาณ 133 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ หลังจากกรมชลประทานพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณโดยรอบผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ได้คัดค้านการผลักดันโครงการมาเป็นระยะเนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นมรดกโลก