จับตา “เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ” สกัดการเติบโตอสังหาฯ

14

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เผยภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2565 ยังมีทิศทางชะลอตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจ ผนวกกับสัญญาณเตือนเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ผู้บริโภครัดเข็มขัดและระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น

ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกของปีมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สวนทางดัชนีอุปทานที่ยังคงเติบโต จำนวนบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุด หลังจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีสินค้าแนวราบอยู่ในมือนำออกมาขายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ด้านผู้พัฒนาอสังหาฯ วางแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อรุกตลาดปี 2565 อย่างคึกคัก

แม้อัตราการดูดซับสินค้ายังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ไร้สัญญาณฟองสบู่อสังหาฯ คาดมาตรการจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภค ผลักดันให้การซื้อขายที่อยู่อาศัยปีนี้กลับมาคึกคัก มองยังเป็นช่วงโอกาสทองโค้งสุดท้ายของผู้ซื้อที่มีความพร้อมทางการเงินในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในราคาคุ้มค่า หลังผู้ประกอบการส่งสัญญาณปรับขึ้นราคาในปีนี้

ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q1 2565 – Powered by PropertyGuru DataSense ฉบับล่าสุด เผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 84 จุด หรือลดลง 1% จากไตรมาสก่อน หลังจากผู้ประกอบการยังคงแข่งขันนำเสนอโปรโมชั่นที่คุ้มค่าเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ด้านที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคได้มากกว่า เห็นได้จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยดัชนีราคาบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นถึง 5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นถึง 13% จากปีก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน ทรงตัวจากปีก่อนหน้า สวนทางกับคอนโดมิเนียมที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากเทรนด์การอยู่อาศัยปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจโครงการแนวราบมากกว่า ผนวกกับการที่นักลงทุนและชาวต่างชาติหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ดัชนีราคาคอนโดมิเนียมลดลง 1% จากไตรมาสก่อน และลดลงถึง 10% ในรอบปีเลยทีเดียว

กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า แม้การเริ่มต้นศักราชใหม่ในปี 2565 นี้อาจไม่ได้สดใสตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ ทั้งจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคมายาวนาน นอกจากนี้ยังมีภาวะเงินเฟ้อที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมกราคมปรับเพิ่มมาที่ 3.23% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 1.7% ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคโดยตรงทั้งในฝั่งของค่าครองชีพและภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยหรือใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น

กมลภัทร แสวงกิจ

ทั้งนี้มีความเคลื่อนไหวจากผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่เปิดตัวแผนธุรกิจรุกตลาดในปีนี้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าโปรโมชั่นการตลาดต่าง ๆ จะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดอสังหาฯ กลับมาคึกคักอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อต่อการซื้อบ้าน อาทิ การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ชั่วคราวของ ธปท. ถือเป็นปัจจัยบวกช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น และยังเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อที่มีความพร้อมในช่วงนี้ เพราะราคาที่อยู่อาศัยมีความเหมาะสมและคุ้มค่า ก่อนที่โครงการใหม่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดและมีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนปัจจุบัน

“อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังคงไม่เพิ่มขึ้นในไตรมาสถัดไป โดยทิศทางอสังหาฯ ไทยต่อจากนี้จะเป็นการเติบโตตามสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังภาวะเงินเฟ้อจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคโดยตรง” กมลภัทร กล่าว