สัมมนา ตีแผ่ความจริง บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายอย่างไร

44

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  จัดสัมมนาวิชาการ “ตีแผ่ความจริง บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายอย่างไร”   เผยปัจจุบันการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี พบว่ามีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 3.3 และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามีความปลอดภัย   พร้อมแนะประชาชนให้ตระหนักถึงโทษ พิษภัย และอันตรายที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า

นายแพทย์ขจรศักดิ์  แก้วจรัส  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “ตีแผ่ความจริง บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายอย่างไร” ว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่ามีการแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จากข้อมูลการสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนระดับโลก อายุ 13–15 ปี ในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า ในเยาวชนกลุ่มนี้มีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 3.3 โดยเป็นเยาวชนชาย ร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิง ร้อยละ 1.9 รวมถึงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามีความปลอดภัย

ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีประกาศเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์หรือบุหรี่ไฟฟ้า ว่า “ไม่ใช่” อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการเลิกบุหรี่ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานควบคุมที่เป็นมาตรฐานออกมายืนยันถึงความปลอดภัยหรือคุณประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งประเด็นในเรื่องของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน และได้รับความสนใจจากสาธารณชน เนื่องจากกลยุทธ์ธุรกิจยาสูบที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดความสนใจ รวมถึงช่องทางการส่งเสริมการขาย การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย     ได้ออกแถลงการณ์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีเนื้อหาเป็นห่วงถึงอันตรายทั้งผู้สูบและผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าส่วนมากมีสารนิโคติน เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงสามารถเสพติดได้ง่าย และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของวัยรุ่น ทำลายสมาธิและการเรียนรู้  นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า และแนะนำให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าประเทศในอาเซียน นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีสิงคโปร์ กัมพูชา และบรูไน ที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศเช่นกัน

นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า บุหรี่ไฟฟ้า มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะมีโทษต่อผู้สูบแล้วนั้น ละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดโทษและผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย โดยเฉพาะสารนิโคติน ที่พบทั้งในน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า และในละอองไอที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารนิโคตินที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเสพติด เป็นสารก่อมะเร็งในปอดและทางเดินอาหาร ขัดขวางพัฒนาการของสมองในเด็ก และส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ตระหนักถึงโทษ พิษภัย และอันตรายที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในเด็ก เยาวชน ขอให้ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าวให้มาก หากประชาชนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ สามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 และคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข