อุบัติเหตุเบาๆ ก็ตายได้ เหตุ “ถุงลมนิรภัย” บกพร่องเร่งเจ้าของรถ 6 แสนคันเปลี่ยนด่วน

26

แพทย์ด้านนิติเวชเตือน อุบัติเหตุทางรถยนต์เพียงเล็กน้อยอาจทำให้ผู้ขับขี่ตายได้ หากรถที่ใช้ เป็นรุ่นที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยยี่ห้อ “ทาคาตะ” (Takata) ที่บกพร่องชำรุด ซึ่งมีการพบเศษโลหะกระเด็นจากถุงลมยี่ห้อดังกล่าวระหว่างอุบัติเหตุ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวติของผู้ใช้รถ

พร้อมกันนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคเตือนผู้ใช้รถกว่าหกแสนคันที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมยี่ห้อดังกล่าว อย่านิ่งนอนใจให้รีบตรวจสอบยี่ห้อและรุ่นรถของตนเอง ว่าเป็นรุ่นที่ติดตั้งถุงลมยี่ห้อนี้หรือไม่ เพื่อเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมอันตรายออกจากรถยนต์ทันที โดยสมาคมยานยนต์ยืนยันว่า รถทุกคันที่พบจะได้รับการเปลี่ยนฟรี

สภาองค์กรของผู้บริโภค โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาฯ กล่าวลำดับเหตุการณ์ กรณีถุงลมนิรภัยของ TAKATA บกพร่อง ในระหว่างการแถลงข่าวประเด็น “ถุงลมนิรภัย อุปกรณ์ช่วยชีวิต หรือระเบิดเวลา” ว่า ถุงลมนิรภัยยี่ห้อดังกล่าว มีแรงดันมากเกินไป จนทำให้ถุงลมแตกเป็นสาเหตุให้ชิ้นส่วนโลหะกระเด็นออกมาเป็นเหตุของการสูญเสีย ด้วยสาเหตุนั้น ตั้งแต่ปี 2557 รถยนต์ 4 ค่ายยักษ์ ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า มาสด้า และนิสสัน ได้เรียกคืนรถยนต์กว่า 3.4 แสนคันจากสาเหตุถุงลมนิรภัยบกพร่อง

ซึ่งในการแถลงข่าวครั้งนี้มี นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าสาขาวิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก และนายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เข้าร่วมด้วย

เลขาธิการ สภาฯ ได้กล่าวเสริมว่า ในปี 2559 มีรถจากค่ายญี่ปุ่น และยุโรปเกือบ 100 ล้านคัน ถูกเรียกเคลม พบมีผู้บาดเจ็บจากเหตุถุงลมฯ ระเบิดมากกว่า 100 ราย และเสียชีวิต 8 ราย กระทั่งมาปี 2560 ศาลสั่งให้บริษัท ทาคาตะจ่ายชดเชยเป็นเงินสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท จน บริษัทต้องยื่นขอล้มละลาย “ความบกพร่องของถุงลมนิรภัย ปัจจุบันมีรถยนต์ในประเทศไทยมากกว่า 6 แสนคัน ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย ซึ่งมีอยู่ 8 ยี่ห้อ ใช้ถุงลมนิรภัยของ TAKATA AIRBAG

สารี ระบุและว่า แม้ที่ผ่านมารถยนต์มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนถุงลมนิรภัยไปแล้วกว่า 1 ล้านคัน จากทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านคัน แต่ก็อยากให้ผู้บริโภคที่ครอบครองรถยนต์ทั้ง 8 ยี่ห้อ (บีเอ็มฯ มาสด้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ นิสสัน โตโยต้า ฟอร์ด เชฟโรเลต) มีการใช้ถุงลมของ TAKATA นำรถไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการ หรือเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สภาองค์กรของผู้บริโภค https://www.tcc.or.th หรือเว็บไซต์ของกรมขนส่งทางบก ซึ่งการปรับเปลี่ยนทั้งหมดผู้บริโภคต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับการเรียกคืนสินค้าชำรุดบกพร่อง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังได้ยกตัวอย่างของประเทศเวียดนาม ซึ่งกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของเวียดนาม ได้กำหนดให้ต้องลงประกาศ หรือเผยแพร่ทางสื่อ ติดต่อกันอย่างน้อย 5 วันทำการ และต้องอัพเดทข้อมูลการเรียกคืนสินค้าบนเว็บไซต์เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าตรวจสอบได้ ซึ่งกรณีไต้หวัน ออสเตรเลีย ก็เช่นเดียวกัน

เมืองไทยมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2522 มีคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยสินค้าและบริการ ปัจจุบัน สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำจดหมายถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอความร่วมมือ ให้บริษัทรถยนต์ เสนอแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาถุงลมนิรภัย

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องการเห็นกรณีการเรียกคืนรถที่ไม่ปลอดภัย เป็นอันตรายต่อการใช้ เป็นกลไกอัตโนมัติเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมมือกันผลักดันพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง หรือ ที่รู้จักกันในชื่อว่าเล

ม่อนลอร์ (Lemon Law) หรือ “กฎหมายมะนาว” ซึ่งความคืบหน้าของกฎหมายฉบับนี้ในประเทศไทยนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า “ผู้ผลิตรถยนต์ก็เจอกฎหมายแบบนี้ในหลายประเทศในอาเซียน ทั้งในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์มี แล้ว ฉะนั้น เราจึงอยากเห็นการทำเรื่องนี้ในประเทศไทย หากไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ประกาศใครซื้อรถใหม่จากประเทศไทยเจอปัญหา ภายใน 6 เดือน ยินดีคืนเงินทันที นี่คือความรับผิดต่อสินค้าชำรุดบกพร่อง เชื่อสินค้าของประเทศไทยจะขายดีแน่นอน” สารีเน้นย้ำความสำคัญ

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยบกพร่อง นพ.สมิทธิ์ ยกกรณีผู้ประสบอุบัติเหตุรายหนึ่ง ที่ผลการผ่าศพ พบแผลใหญ่ใต้คอ ลึกไปถึงกระดูกสันหลัง มีเศษโลหะฝังอยู่กระดูกสันหลัง สุดท้ายเมื่อไปตรวจที่รถยนต์ พบว่า ชิ้นส่วนเศษโลหะมาจากถุงลมนิรภัย โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งขณะที่มีงานวิจัยในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่า ลักษณะแผลของผู้เสียชีวิตคล้ายกัน ดังนั้น การพบชิ้นส่วนรถยนต์มีปัญหา หากไม่เปลี่ยนถุงลมนิรภัย ก็เป็นเหมือนระเบิดเวลา “ความบกพร่องที่เกิดจากถุงลมนิรภัย การชนเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ผมไม่อยากผ่าเคสลักษณะนี้อีก ขอให้ไปสำรวจรถของตนเอง และนำรถของท่านไปเปลี่ยน เปลี่ยนแค่ถุงลมนิรภัย” นพ. สมิทธิ์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ผู้ใช้รถต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย

ด้านหน่วยงานที่กำกับดูแล นายชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตั้งแต่มีข่าวจากต่างประเทศเรียกคืนรถยนต์รุ่นที่มีปัญหา ทางกรมฯ หารือกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ และได้รับทราบหมายเลขตัวรถ มีรถมากกว่า 1.7 ล้านคันใช้งานในประเทศไทย จึงร่วมมือกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้ครอบครองรถนำรถเข้ารับการแก้ไขจัดทำเว็บไซด์ให้สามารถเช็คข้อมูลรถยนต์ที่ต้องเข้ารับบริการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ถุงลมนิรภัย https://www.checkairbag.com/ และได้ให้ข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ผู้ครอบครองรถทั้งหมด เพิ่มช่องทางให้บริษัทแจ้งไปที่บ้าน ให้ทราบถึงปัญหา นำรถเข้ารับการแก้ไข ปัจจุบันรถเหลือมากกว่า 6 แสนคันยังใช้งานอยู่บนท้องถนน

กรณีรถยนต์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนถุงลมนิรภัย นายชีพ ระบุว่า จะมีการบูรณาการข้อมูล กับทางทะเบียน หากรถดังกล่าวมาชำระภาษี จะได้รับการแจ้งเตือนให้ไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัย นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถรับทราบ รวมถึงผลเสียของการไม่มาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย และระหว่างนี้ ก็จะประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง กรณีรถยนต์ที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถตรวจสอบได้ที่ขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ใกล้บ้าน

การแก้ไขเรื่องถุงลมนิรภัย นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวยืนยันว่า ผู้บริโภคไม่ต้องตกใจ การแก้ไขเรื่องถุงลมนิรภัยจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ที่ผ่านมา สมาคมฯ ประกาศเรียกคืนรถยนต์ที่เป็นปัญหา ตั้งแต่ปี 2556 โดยใช้ฐานข้อมูลลูกค้าใหม่ของบริษัท และปี 2561 จับมือกับกรมการขนส่งทางบก กรณีลูกค้าเปลี่ยนมือ เปลี่ยนเจ้าของ ไม่ได้ครอบครองรถยนต์คันนั้นแล้ว “เราได้ใช้ข้อมูลตรงนี้ส่งข่าวสารออกไป เพื่อติดต่อลูกค้าให้ได้ ซึ่งเป้าหมาย คือ ต้องการเรียกคืนรถยนต์รุ่นที่มีปัญหาถุงลมนิรภัยกลับมาให้หมด โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ซึ่งรถยนต์มากกว่า 6 แสนคัน ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบและแก้ไข สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ติดต่อไปทางเต็นท์รถมือสองบริษัทประกันภัย รวมถึงการดูในส่วนของผู้มาต่อทะเบียนรถยนต์ เชื่อจะเป็นช่องทางติดต่อผู้ใช้รถยนต์ได้ตรงที่สุด เราถือเรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์”

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบยี่ห้อและรุ่นรถยนต์ที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยฟรีได้ที่ https://bit.ly/ 3M31Hso หรือ https://www.checkairbag.com/