ตลาดทองคำทั่วโลก ไตรมาสแรก ความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 34

17

ตลาดทองคำทั่วโลกได้เปิดตัวเข้าสู่ปี 2565 อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยความต้องการของผู้บริโภคในไตรมาสแรก (ไม่รวมการซื้อขายแบบไม่เป็นทางการ หรือ OTC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลจากกระแสเงินทุนที่แข็งแกร่งในกองทุนรวมดัชนี (ETF) ชี้ให้เห็นถึงสถานะทองคำที่เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่มีความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจผันผวน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อทองคำของผู้บริโภคในประเทศไทยลดลงจาก 8.3 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปอยู่ที่ 3.8 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งนับว่าลดลงถึงร้อยละ 54 การลดลงโดยรวมเกิดจากการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญที่ลดลงร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จาก 6.2 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปอยู่ที่ 1.6 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 แต่ในขณะเดียวกัน ความต้องการซื้อเครื่องประดับในกลุ่มผู้บริโภคขยับเพิ่มมากขึ้นที่ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จาก 2.0 ตันในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปเป็น 2.2 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565

ผู้บริโภคในประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อราคา และด้วยราคาขายภายในประเทศที่สูง นักลงทุนจำนวนมากจึงเลือกขายทำกำไรเมื่อราคาถึงเป้าที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทองคำในประเทศไทยยังคงเผชิญกับคู่แข่งสำคัญอย่างการลงทุนแบบไม่ต้องถือครองผลิตภัณฑ์หรือที่เรียกว่า Paper Gold

Andrew Naylor ผู้บริหารประจำภูมิภาคแห่งสภาทองคำโลก (APAC ไม่รวมประเทศจีน) กล่าวว่า “แม้ความต้องการซื้อเครื่องประดับตอนนี้ยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่การกลับมาเปิดประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงชะลอการซื้อสินค้าราคาสูงอย่างทองคำไว้ก่อนและเลือกที่จะขายทำกำไรจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น”

วิกฤตการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกและกระตุ้นความสนใจของนักลงทุน ดันราคาทองคำไปอยู่ที่ 2,070 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเดือนมีนาคม ซึ่งนับว่าต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำ (Gold Demand Trends Report) ฉบับล่าสุดของสภาทองคำโลกเผยว่า การลงทุนในกองทุนรวมทองคำ (Gold ETF) มีเงินทุนไหลเข้ารายไตรมาสสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ที่ 269 ตัน มากกว่าเงินทุนไหลออกสุทธิรายปีซึ่งอยู่ที่ 173 ตันในปี 2564 โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากราคาทองคำที่สูงขึ้น

ในขณะเดียวกันความต้องการซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำปรับสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในรอบห้าปี อยู่ที่ร้อยละ 11 หรือ 282 ตัน แต่การที่จีนประกาศปิดประเทศอีกครั้งและราคาทองที่สูงในตุรกีล้วนมีส่วนทำให้ความต้องการซื้อทองลดลงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับความต้องการซื้อที่สูงอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของปี 2564

สำหรับในภาคส่วนอัญมณี ความต้องการซื้อทองคำทั่วโลกลดลงเหลือ 474 ตัน คิดเป็นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ลดลงในจีนและอินเดีย และแม้ว่าตลาดอัญมณีในประเทศจีนจะคึกคักช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ภาคส่วนนี้กลับซบเซาลงภายหลังจากการระบาดของโควิดในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ที่นำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ภายใต้ข้อปฏิบัติตามนโยบายเฝ้าระวังโควิดที่เคร่งครัดของจีน

ในขณะที่ประเทศอินเดีย มีการลดการจัดงานแต่งงานและงานเฉลิมฉลองในวันมงคลต่าง ๆ ในไตรมาสแรกส่งผลกระทบโดยตรงต่อการซื้อทองคำในประเทศ ประกอบกับราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอินเดียจำนวนมากชะลอการซื้อทองคำ

ความต้องการทองคำในด้านเทคโนโลยีแตะระดับสูงสุดในรอบสี่ปีที่ 82 ตัน คิดเป็นร้อยละ 1 ในไตรมาสแรกของปี 2564 แม้ว่าภาคธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตพอประมาณ แต่ก็พบว่ายังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญเนื่องจากศูนย์กลางทางการเงินและอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนั้นทางด้านการซื้อสุทธิของธนาคารกลางมีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีทองคำสำรองอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นมากกว่า 84 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในภาคส่วนนี้คือประเทศอียิปต์และตุรกี แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี 2564 ถึงร้อยละ 29 แต่ธนาคารกลางก็ยังคงให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของทองคำในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้

อุปทานของทองคำทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากการทำเหมืองอย่างแข็งขันจนทองแตะระดับ 856 ตัน รวมถึงการรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว ซึ่งแตะระดับ 310 ตัน ตอบรับกับราคาทองคำที่สูงขึ้น

Louise Street นักวิเคราะห์อาวุโสประจำยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ของสภาทองคำโลกให้ความเห็นว่า “ในไตรมาสแรกของปี 2565 เป็นช่วงแห่งความผันผวน ทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมือง อุปสรรคในห่วงโซ่การผลิต และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เหตุการณ์และสภาวะตลาดทั่วโลกเหล่านี้ทำให้ทองคำมีสถานะที่แข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับนักลงทุนเท่านั้นแต่ยังปลอดภัยสำหรับผู้บริโภครายย่อย ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนชนิดที่เหมาะสำหรับนักลงทุนทั้งสองประเภท”

Louise Street ยังกล่าวต่ออีกว่า “จากการเปลี่ยนแปลงของตลาดในปัจจุบันคาดการณ์ได้ว่า ความต้องการลงทุนจะยังคงมีมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงและความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความต้องการทองคำในกลุ่มนักลงทุน แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคก็กำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลก ซึ่งหมายความว่า ผู้บริโภคจะระมัดระวังในการใช้เงิน แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคจะฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความต้องการซื้อเครื่องประดับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจหยุดชะงัก ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป”