“สาธิต” ชื่นชม สสส.-เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ฐานรากสังคมสุขภาวะ เข้มแข็งพึ่งตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่- สสส. รวมพลัง 8 หน่วยงาน เพิ่มขีดความสามารถชุมชนท้องถิ่นสร้างเสริมสุขภาพ
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 ประธานเปิดงานเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” และ ปาฐกถาพิเศษ “ร่วมสร้างสุขภาวะประเทศไทย” กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีสมาชิกกว่า 3,000 ตำบล เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ และวิถีปฏิบัติแบบมุ่งใช้พื้นที่เป็นฐานพัฒนา และใช้สุขภาวะชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของทุกนโยบาย ดึงทุกภาคส่วนร่วมสร้างสุขภาวะชุมชน ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน รวมถึงองค์กรภาครัฐ เอกชน องค์กรทางสังคม เสริมความเข้มแข็งให้ระบบปฐมภูมิ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินและวิกฤต ระบบการดูแลในระยะยาว ระบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อ ครอบคลุมประชากร 100% โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการดูแลพิเศษ เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ
“สสส. ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 20 ปี ทำงานเชิงรุกในชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน หนุนเสริมการทำงานการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการจัดระเบียบชุมชนและการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่การสร้างชุมชนท้องถิ่นฐานรากที่มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เวทีสานพลังฯ ครั้งนี้สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปบทเรียนการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นสู่การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับ 8 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อสานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และภาคีสร้างเสริมสุขภาพด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น สู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 7+1 ของ สสส. พร้อมขยายผลแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานภายในและภายนอกเครือข่ายผ่านเส้นทางการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า การทำงานเชิงพื้นที่ของ สสส. ที่ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับตำบล อำเภอ เครือข่าย และจังหวัด รวมถึงการขับเคลื่อนและรณรงค์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ที่เน้นการสานพลังทุนทางสังคมของพื้นที่ในการจัดการตนเองกว่า 10 ปี มุ่งเน้นประเด็นสำคัญของชุมชน 13 ประเด็น ได้แก่ ยาสูบ แอลกอฮอล์และยาเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย สุขภาพจิต ความปลอดภัยทางถนน มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่และปัจจัยเสี่ยงอื่น การรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลเด็กปฐมวัย การควบคุมโรคติดต่อ เศรษฐกิจชุมชน และโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม โดยคาดหวังจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและการเสริมสร้างสุขภาพในกับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า การเพิ่มขีดความสามารถชุมชนท้องถิ่นในการสร้างเสริมสุขภาพ มีขั้นตอน คือ 1.ออกแบบบริหารจัดการในพื้นที่ มีองค์ความรู้ และปฏิบัติการที่จะนำไปใช้ 2.สร้างนวัตกรรม อัตลักษณ์ โดยใช้ศาสตร์ของพระราชา ระบบข้อมูลโดยชุมชนเพื่อชุมชนของชุมชน การใช้ทุนทางสังคม ทรัพยากรคน องค์กรเครือข่ายในชุมชนเป็นทุนหลักขับเคลื่อนแก้ปัญหา และพัฒนาพื้นที่ 3.พิสูจน์ความเป็นชุมชนจัดการตนเอง ยกระดับขีดความสามารถของชุมชน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมนำนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ประเทศ ไปสู่ตำบล ชุมชน 4.สร้างความยั่งยืน ในระดับหน่วยงาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย /ในระดับเครือข่าย พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ไร้พรมแดน /ในระดับชุมชน และพัฒนาผู้นำ
“เส้นทางในอีก 10 ปี เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีความมุ่งหมาย 5 ข้อ คือ 1.ขยายพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และพัฒนาเครือข่ายให้มีขีดความสามารถ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อถ่ายทอดศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ 2.พัฒนากลไกรองรับชุมชนกับวิถีชีวิตใหม่ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม 3.ยกระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีพื้นที่ตัวอย่างการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น ชุมชนในเมือง ในชนบท พื้นที่ชายแดน 4.พัฒนาศักยภาพผู้นำที่มีความหลากหลายและสร้างเครือข่ายผู้นำ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา 5.ใช้แผนสุขภาวะชุมชนที่มีพื้นที่เป็นตัวตั้ง รองรับนโยบายระดับชาติจังหวัด และแผนอื่นของ สสส. /ภาคียุทธศาสตร์ทุกหน่วยงาน” ธวัชชัยกล่าว