‘แจนเซ่น-ซีแลก’ สนุนศิลปินไทย ปลุกจิตสำนึกป้องกันการฆ่าตัวตาย

33
นพ.ณัฐกร จำปาทอง (ที่ 1 จากซ้าย) ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร (ที่ 2 จากซ้าย) พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ (กลาง)  ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร และ วีรวัฒน์ มีแก้ว (ที่ 1 จากขวา)

คนไทยประมาณ 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในแต่ละปีในประเทศไทย และราว 53,000 (คิดเป็น 145 คนต่อวัน) คนพยายามฆ่าตัวตาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 4,000 คนในแต่ละปี การสำรวจล่าสุดยังพบว่าคนหนุ่มสาวมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ โดยกรมสุขภาพจิตรายงานว่า 8% ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย

วีรวัฒน์ มีแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด กล่าวว่า ล่าสุด แจนเซ่น ได้ร่วมกับศิลปินค่าย เทโร ได้มีโอกาสทำแคมเปญ ‘Mind Voice’ ร่วมกับกรมสุขภาพจิตและชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทยเพื่อนำเสนอมุมมองของศิลปินเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยแคมเปญ ‘Mind Voice’ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 10 กันยายน มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรับรู้ก่อนถึงวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565

มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความท้าทายของกลุ่มคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder: MDD) ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 900,000 คนทั่วประเทศไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หากผู้คนเข้าใจเกี่ยวกับภาระของภาวะซึมเศร้าประเภทต่างๆ รวมถึงโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (Treatment Resistant Depression: TRD) และความคิดอยากฆ่าตัวตาย เราทุกคนจะสามารถดูแลตัวเราเองและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีการสร้างเพจและกลุ่มบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นจำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องปัญหาสุขภาพจิตกำลังเป็นประเด็นร้อนและอาจมีผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด หนึ่งในเพจเหล่านี้คือเพจ นวล ที่มีเจ้าของเพจผู้ซึ่งเป็นนักวาดใช้ศิลปะในการสื่อสารประเด็นทางสังคมต่างๆ และ ”สาเหตุและผลกระทบของภาวะซึมเศร้า” ถือเป็นประเด็นที่ เพจ นวล หยิบขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งช่วยในการสร้างการรับรู้ในหมู่คนรุ่นใหม่

” ก่อนหน้านี้ เทโร ได้ร่วมทำกิจกรรมและโครงการต่างๆ อย่าง “Sound of Happiness”, “In The Mood For Love”, “In The Mood For Music” และ “Note To My Younger Self” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการรักษาและส่งเสริมผู้ที่มีภาวะทางสุขภาพจิตและสร้างบรรยากาศที่สื่อถึงความรักและความห่วงใยในสังคมไทย” วีรวัฒน์

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า เดิมที่อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยนับว่าเกือบจะสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาคนตกงานทำให้พวกเขาขาดรายได้เพื่อประคองชีพจนอาจทำให้ตัดสินใจคิดสั้นในที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงมีช่องทางการติดต่อต่างๆเพื่อการเฝ้าสังเกตกลุ่มคนเสี่ยงอย่าง HOPE Taskforce : ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่จะคอยทำหน้าที่เฝ้าสังเกตกลุ่มคนเสี่ยงบนโซเชียลมีเดีย

“อีกทั้งทางกรมสุขภาพจิตได้จัดให้มีช่องทางการติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต อาทิ บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แอพพลิเคชันคุยกัน (KhuiKun) ที่มีให้บริการบนแอพพลิเคชันไลน์เป็นบริการสุขภาพจิตให้การปรึกษาเบื้องต้นในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพจิต และ Sati App แอพพลิเคชันแพลตฟอร์มที่ให้คนสามารถเข้าถึงผู้ฟังด้วยใจง่ายขึ้นผ่านทางโทรศัพท์มือถือ”นพ.ณัฐกร กล่าว

ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร ผู้แทนสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังคงมีการตีตราผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือปัญหาด้านสุขภาพจิตในสังคม ซึ่งนั่นอาจทำให้กลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะฉะนั้นการได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา พวกเราสามารถช่วยเหลือเพื่อนหรือคนในครอบครัวได้โดยการสังเกตพฤติกรรมต่างๆของพวกเขา

“ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียเช่นการลบหรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปสีดำ สังเกตอาการว่าพวกเขาวิตกกังวลและหงุดหงิดง่ายหรือไม่ หรือแม้แต่สังเกตการนอนหลับของพวกเขาว่ามีปัญหาในการนอนหลับหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเราต้องให้พวกเขารับรู้ว่าเราพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนเขาทุกเมื่อ”ผศ.นพ.ปราการ กล่าว

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ประธานชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย (TSAD) และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษาภาวะนี้ให้ครอบคลุมโดยการมองจากหลายแง่มุม ด้วยการใช้แบบจำลอง Biopsychosocial (ชีวะ-จิต-สังคม)

” เราสามารถระบุปัจจัยทางชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกตินี้ได้ ตัวอย่างเช่น ว่าด้วยปัจจัยทางชีววิทยา การวิจัยชี้ให้เห็นว่ายีนมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายของภาวะซึมเศร้าจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้” ผศ.นพ.ณัทธร กล่าว

ผู้ที่กำลังกังวลเรื่องสุขภาพจิตสามารถโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ แอพพลิเคชันคุยกัน (KhuiKun) ที่มีให้บริการบนแอพพลิเคชันไลน์จะช่วยเป็นตัวเชื่อมคุณกับโรงพยาบาลทำให้ง่ายต่อการจองแพทย์หรือนัดหมายการโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และ แอพพลิเคชัน Sati ให้บริการเชื่อมคนกับผู้ฟังด้วยใจง่ายขึ้นผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยแอพนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพจิตที่ดี และความสำคัญของการรับฟังและรับรู้ด้วยใจเพื่อสร้างสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น