เผยผลสำรวจความพร้อมคนไทยในการช่วยชีวิตผู้ป่วย เมื่อเกิดเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันทัน พบ คนไทยเพียง 37% มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการช่วยชีวิตคนขั้นพื้นฐาน คนส่วนใหญ่ร้อยละ 69 พร้อมที่จะ CPR เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่เคยเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น ประมาณร้อยละ 50 รู้จักเครื่อง AED แต่ 2 ใน 3 ไม่ทราบวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง
รายงานผลสำรวจทักษะความรู้และความพร้อมของคนไทยในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest หรือ SCA)I ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนการช่วยชีวิตคนขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อจำเป็น (Automated External Defibrillator หรือ AED) พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของ AED และมีหลายคนที่เคยได้รับการฝึกอบรมการช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น (First-aid training) แต่มีเพียงร้อยละ 37 เท่านั้นที่ทราบวิธีการกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง
จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยทั้งประเทศจำนวนกว่า 2,000 คน แบ่งเป็นชายร้อยละ 49 และหญิงร้อยละ 51 ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 50 มีคนรู้จักที่เจ็บป่วยจากอาการหัวใจวายหรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งร้อยละ 69 ให้ความเห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำการกู้ชีพผู้ป่วย เมื่อเกิดเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน อย่างไรก็ตามมีเพียงร้อยละ 32 เท่านั้นที่เคยเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน ในขณะที่คนไทยเกินครึ่งไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ เพราะไม่ทราบวิธีการหรือลืมไปแล้ว ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 29 ที่เคยเรียนรู้วิธีแต่จำวิธีการช่วยเหลือไม่ได้ ส่วนอีกร้อยละ 39 ไม่เคยเรียนรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นเลย
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยว่า ประมาณร้อยละ 50 ของคนไทยรู้จักเครื่อง AED ซึ่งคนกลุ่มนี้ทราบถึงประโยชน์ว่าสามารถช่วยช็อกหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า รวมทั้งร้อยละ 70 ของคนกลุ่มนี้ยังทราบว่าเครื่อง AED มาพร้อมคำสั่งแบบภาพและเสียงที่เข้าใจง่ายเพื่อแนะนำแนวทางการช่วยชีวิตผู้ป่วยตลอดกระบวนการ อันที่จริงแล้ว เครื่อง AED บางเครื่องยังนำเสนอฟีดแบ็คเกี่ยวกับแรงและอัตราการกดขณะ CPR แบบเรียลไทม์ได้ในตัว อย่างไรก็ตาม คนไทย 2 ใน 3 ไม่ทราบวิธีการใช้เครื่อง AED ที่ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ต่างเห็นด้วยว่า การเรียนรู้วิธีช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยเครื่อง AED เป็นสิ่งที่จำเป็น และเกินร้อยละ 70 รู้สึกสะดวกใจที่จะใช้เครื่อง AED เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
นอกจากนี้ สำหรับผลสำรวจในด้านการรับรู้เกี่ยวกับเครื่อง AED ยังเผยว่า มีเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่ทราบว่า กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีการติดตั้งเครื่อง AED และส่วนใหญ่ร้อยละ 54 ระบุว่า ไม่เคยพบเห็นเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ โดยมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่เคยพบเห็นเครื่อง AED ตามห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือสนามบิน เป็นต้น อย่างไรตามผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทุกคน หรือร้อยละ 97 ต่างเห็นด้วยว่าสถานที่สาธารณะต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งเครื่อง AED
นายแพทย์นิพนธ์ ศรีสุวนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ด้านปฏิบัติการโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า “ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงระดับความตระหนักรู้ของคนไทยในเรื่องการช่วยชีวิตคนขั้นพื้นฐาน รวมถึงความพร้อมในการช่วยชีวิตเมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายหรือหยุดเต้นเฉียบพลันเสียชีวิต คือ การที่พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพราะโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจะลดลงถึงร้อยละ 10 ในทุก ๆ 1 นาที หลังจากหมดสติII ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างถูกต้องจะช่วยยืดเวลาให้กับผู้ป่วยก่อนเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินจะมาถึงได้”
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน กำลังเป็นภัยเงียบคร่าชีวิตผู้คนมากมายในแต่ละปี เป็นภาวะที่เกิดจากการที่หัวใจสูญเสียการทำงานกระทันหัน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกซิเจนไปยังร่างกายได้อย่างเพียงพอ และทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่มีความอันตรายถึงชีวิต ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกคนในทุกที่ทุกเวลา ทั้งในที่สาธารณะหรือที่ทำงาน และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น จากข้อมูลขององค์กร Global Resuscitation Alliance ระบุว่า อัตราผู้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันทั่วโลกมีน้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากถึงปีละ 54,000 คน เฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงละ 6 คน
เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยในประเทศไทย ประชาชนทั่วไปจึงต้องมีความรู้ในการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติหรือ AED โดยผลการวิจัยพบว่า การใช้เครื่อง AED ช็อกกระตุ้นหัวใจอย่างถูกต้องภายใน 3-5 นาทีแรกเมื่อจำเป็นต้องใช้ จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 75V นอกจากนี้การติดตั้งและมีเครื่อง AED ที่พร้อมใช้งานในพื้นที่สาธารณะ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่ชุมชนและสถานที่ทำงานได้มากยิ่งขึ้น
ในกรณีที่พบผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้แนะนำวิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งเรียกว่า “ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต” (Chain of Survival) ดังต่อไปนี้
1. Early Access เมื่อพบผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 ทันที
2. Early CPR เริ่มช่วยชีวิตผู้ป่วยทันทีด้วยการ CPR
3. Early Defibrillation ในสถานการณ์ที่ทำ CPR อย่างเดียวไม่ได้ผล AED คือเครื่องปฐมพยาบาลที่จำเป็นที่สุด
4. Early ACLS ทีมกู้ชีพที่ได้รับการประสานการช่วยเหลือ จะเป็นผู้ใช้วิธีช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างรวดเร็วและนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต่อไป
นอกจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ควรเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ด้วยการติดตั้งเครื่อง AED ไว้ในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน เพื่อให้สอดคล้องไปกับกฎกระทรวงมหาดไทยล่าสุด ที่ได้ออกประกาศในกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก่อนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะเดินทางมาถึง โดยอาคารเหล่านี้ต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่ภายในตัวอาคารที่เข้าถึงได้ง่าย
โอกาสที่เราจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลได้สำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันท่วงทีVII การมีทักษะความรู้ด้านการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการที่เราสามารถเข้าถึงเครื่อง AED ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ จะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสรอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ถือเป็นการสร้างปาฏิหาริย์นาทีชีวิตให้กับผู้ป่วย