คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) ชูธงนำพลังงานทางเลือกจาก “พลังงานแสงอาทิตย์”(Solar Energy) เพื่อตอบโจทย์ Green University เสริมสร้างความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Invertor) ต้นแบบอัจฉริยะประสิทธิภาพสูงเพื่อนำไปสู่การผลิตในประเทศให้คนไทยได้ใช้แพร่หลายในอนาคต
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกของเราขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงาน โดยพลังงานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ในอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า น้ำมันดิบจะหมดไปจากโลก และอีก 22 ปีถัดไป ก๊าซธรรมชาติก็จะหมดไปจากโลกเช่นกัน เรากำลังก้าวสู่ยุคแห่ง พลังงานทางเลือก หรือ พลังงานทดแทน โดย “พลังงานแสงอาทิตย์”(Solar Energy) เป็นพลังงานสะอาดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกนำมาใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากฟอสซิลนั้น นับเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพมาก ไม่มีวันหมด และเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืน ยิ่งใช้ยิ่งดี ทั้งสะอาด ไร้มลพิษ ประหยัดและได้เงินคืน เปลี่ยนรูปพลังงานเป็นพลังเงินได้ พลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นพลังงานทางเลือกที่มาเป็นอันดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นต้นทางของการลดปัญหามลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการหลักที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะเรือนกระจก หรือ ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรงขึ้นทุกปี
ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับเป็น Green University อันดับ 1 ของประเทศไทย 5 ปีซ้อน โดยสถาบัน UI Green Metric World University Ranking ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าของ Green University อย่างต่อเนื่อง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีแนวคิดในการนำ “โซลาร์เซลล์” (Solar Cell) เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า โดยเริ่มเก็บข้อมูลการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทำการศึกษาวิเคราะห์เรื่องมุมรับแดด การเลือกชนิดและขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ และระบบการติดตั้งพร้อมการดูแลรักษา
“โดย 2 ปี ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ “ชุดทดลอง” ขนาด 15 กิโลวัตต์พีค (KWp) ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดค่าไฟได้กว่าหมื่นบาทต่อเดือนในช่วงที่แสงแดดดี และในอีก 3 เดือนข้างหน้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนงานที่จะขยายการติดแผงโซลาเซลล์ให้เป็นวงกว้างมากขึ้น โดยจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอีกไม่ต่ำกว่า 230 กิโลวัตต์พีค (KWp) ด้วยใช้เงินลงทุนกว่า 4 ล้านบาท จากการคำนวณจะสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 18-20 เปอร์เซ็นต์ เดือนละประมาณกว่า 180,000 -200,000 บาท (ณ ราคาต่อหน่วยไฟฟ้าในปัจจุบันแบบ TOU) ”
นอกจากนี้ ระบบที่ติดตั้งใหม่เลือกเทคโนโลยีเป็นชุดแผงโซลาเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้การเชื่อมต่อแบบ ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Invertor) ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการรับพลังงานจากแสงเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าดียิ่งขึ้น อีกทั้งคณะฯ มีแผนในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีของ ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Invertor) ต้นแบบให้มีความอัจฉริยะ ประสิทธิภาพสูงขึ้นและปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การผลิตในประเทศในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และประชาชนสามารถเข้าถึงได้และใช้ทั่วประเทศ
หลักการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์ ร่วมกับไมโครอินเวอร์เตอร์ กระบวนการผลิตไฟฟ้าจะเกิดขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่มีพลังงานมากระทบกับ แผงโซลาร์เซลล์ ที่ทำขึ้นจากสารกึ่งตัวนำชนิดพิเศษมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ร่วมกับระบบโซล่าเซลล์ที่มีไมโครอินเวอร์เตอร์ซึ่งมีอินเวอร์เตอร์ขนาดเล็กติดอยู่ด้านหลังของชุดแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้เกิดการการแปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) จากกลุ่มแผงโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ทันทีในการจ่ายเข้าอาคารบ้านเรือน โดยสามารถเชื่อมต่อไฟ AC เข้ากับไมโครอินเวอร์เตอร์ตัวอื่นๆได้ในแบบขนาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการแปลงพลังงานสูงขึ้น และมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางไฟฟ้าที่ดีขึ้น
มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือกแก่เยาวชนและชุมชนสังคม อาทิ เมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม โดย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดี ได้จัด “โครงการเทคโนโลยีส่งเสริมพลังงานทดแทนกับการเรียนรู้สู่สถานศึกษาในอนาคต” ให้ความรู้และเสริมประสบการณ์แก่ครูและเยาวชน โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย 2 หลวงพ่อเงินอนุสรณ์ เรื่อง “พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์…สู่เทคโนโลยีพลังงานอนาคต” และเข้าเยี่ยมชมและศึกษาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อนและสร้างเสริมโลกที่ยั่งยืนน่าอยู่อีกด้วย