เราใช้เวลาแบบไม่เร่งรีบราวสามชั่วโมงจากเบตงมาถึงปัตตานี ยามบ่ายที่ไอแดดยังคงทำงานหนัก ท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่ยังคงคึกคัก ด้วยเป็นเวลาเลิกเรียน จึงมีรถรามากมายบนท้องถนน นับเป็นภาพปกติทั่วไปไม่ต่างจากที่อื่น
ที่ปัตตานีมีดีอะไร คำถามนี้อาจจะทำให้ต้องหยุดคิดสักครู่ แต่เมื่อปักหลักตรงจุดสำคัญอย่าง “มัสยิดกลาง” ในจังหวัดปัตตานี ความงดงามที่ตั้งตระหง่านตรงหน้า เริ่มแสดงให้เห็นถึงความสดชื่นในหัวใจ
มัสยิดขนาดใหญ่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยรูปทรงที่คล้ายกับทัชมาฮาลในประเทศอินเดีย นับเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ใครมาเยือนปัตตานีก็จะไม่พลาดที่จะเข้ามาชมความงดงามของมัสยิดกลางแห่งนี้
ช่วงเย็นย่ำเราบึ่งกันที่ อ.ยะหริ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองปัตตานีมากนัก มุ่งหน้าไปที่บ้านบางปู ซึ่งเป็นชุมชนด้านการท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์
เรือหางยาวนำพาผู้โดยสารราว 7-8 ท่านต่อลำ พาเราออกไปในลำคลองป่าโกงกาง ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ พร้อมวิถีชาวประมงริมชายน้ำ เรือลอดซุ้มป่าโกงกางออกไป ก่อนจะลอยล่องอยู่ในเวิ้งน้ำอันแสนกว้างใหญ่
ริ้วน้ำกระจายตัวตามเส้นทางของเรือแต่ละลำ เป็นเวลาที่ทันกับช่วงพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน อันที่จริงไม่รู้ว่านี่คือการตกดินหรือตกน้ำกันแน่
เป็นภาพที่ทุกคนได้พบเห็นแล้วคงประทับไว้ในใจ เพราะนี้เป็นอีกมุมมองใหม่ที่หลายคนยังไม่เคยเจอ แม้จะเป็นการต้อนรับด้วยการจากลาของแสงแห่งวัน แต่ก็คือจุดเริ่มต้นการเที่ยวชมปัตตานีอันตราตรึงใจ
เช้าวันใหม่ของปัตตานี เราได้เข้าร่วมพิธีแห่องค์พระลุยน้ำในช่วงเช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี ซึ่งเย็นนี้เราจะได้ชมพิธีลุยสุดระทึกกันด้วย
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นสถานที่ที่มีผู้คนเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ด้วยความศรัทธาต่อองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากประวัติของความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว หลังจากใช้เวลายาวนานดั้นด้นมาตามพี่ชายซึ่งจากบ้านที่เมืองจีนมาไกล แต่ไม่สามารถร้องขอให้พี่ชายกลับบ้านไปหาแม่ได้ เธอจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย และเกิดเป็นความเชื่อความศรัทธาที่ว่า เมื่อมีผู้มากราบขอพร ก็มีผู้สมหวังเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เรื่องราวของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวยังมีรายละเอียดให้ศึกษาอีกมากนัก
ปัจจุบันศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มีผู้เข้ามาเที่ยวชม กราบไหว้ขอพรทางด้านการค้า และมีบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งในปัตตานีและจังหวัดอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
มาถึงปัตตานีแล้ว ก็ต้องแวะไปที่ วัดช้างให้ ซึ่งอยู่ที่ อ.โคกโพธิ์ วัดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ซึ่งมีเจ้าอาวาสองค์แรกอันเป็นที่เคารพและศรัทธา นัั่นคือ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
แต่ก่อนที่จะเข้าชมพิธีลุยไฟในตอนเย็น ช่วงบ่ายเรามีสถานที่เช็คอินแห่งใหม่ในเมืองปัตตานีมาฝาก เรียกได้ว่ายังสดๆ ร้อนๆ เพราะเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2560 และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เรียกได้ว่าหนาแน่นในทุกวันหยุดโชคดีที่เราเลือกเดินทางในวันธรรมดา ซึ่งไม่ว่าที่ไหนๆ เราก็จะได้สุขใจกับบรรยากาศแบบที่ไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คน
เราอยู่กันที่ สกายวอล์ค (Sky Walk) ปัตตานี ตั้งอยู่ที่ระหว่างหาดรูสะมีแล กับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ต.รูสะมีแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นการเดินเที่ยวธรรมชาติมุมสูง ในบรรยากาศที่เปิดโล่งโปร่งสบาย ไม่มีอะไรมาบดบังสายตา แต่ทว่า ไม่ได้เดินอย่างปกติทั่วไป เล่นเอาใจสั่นๆ อยู่เหมือนกัน
ด้วยโครงสร้างของทางเดินที่เป็นพื้นตาข่ายเหล็ก บนความสูงราวตึก 5 ชั้น ทำให้นี่ไม่ใช่การเดินกินลมชมวิวโดยทั่วไป เพราะมองลงมาแล้วก็ไม่ต่างกับการลอยอยู่บนตาข่าย ซึ่งจิตใจของผู้ที่อ่อนไหวง่าย อาจจะแจ้งไปทางการรับรู้ว่า นี่คือช่วงเวลาที่น่าหวาดเสียว ทำให้มองเห็นหลายๆ คน ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ ไต่ไปตามราวทางเดิน
แต่นับเป็นมุมมองที่คุ้มค่า มองเห็นชายหาดอยู่ไกลๆ ด้านล่างของทางเดินคือป่าโกงกางที่มีเส้นทางเดินชมศึกษาธรรมชาติ ใกล้ๆ ก็มีหอชมวิว ซึ่งมีความสูงน้อยกว่าบริเวณสกายวอล์ค
ใช้เวลาสนุกสนานกันจนเย็น จำเป็นที่ต้องรีบเคลื่อนย้ายกันไปที่ศาลเจ้า เพื่อจับจองพื้นที่การรับชมพิธีลุยไฟ ซึ่งเมื่อไปถึง เราก็พบว่า มีผู้คนมายืนรออยู่กันเกือบเต็มพื้นที่แล้ว ท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุ แต่ทุกคนก็ไม่ขยับไปไหน เพราะหนีออกจากที่เดิมเมื่อไหร่ก็จะถูกยึดที่ในทันที นี่อาจจะเป็นหนึ่งการแสดงความศรัทธาของมหาชนที่เข้ามารอชมพระบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและองค์พระต่างๆ
ขบวนผู้แบกเกี้ยวขององค์พระมาถึงบริเวณพิธีในช่วงที่แดดเริ่มบางลง นับเป็นช่วงเวลาอันดี ขบวนตั้งแถวแห่รอบกองไฟ ก่อนจะเข้าสู่พิธีที่ทุกคนรอคอยด้วยใจระทึก
ทราบมาว่า ผู้ที่แบกเกี้ยว จะต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ต้องถือศีลกินเจ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และงดเว้นการข้องเกี่ยวกับเพศสตรี ทั้งนี้บริเวณลานพิธีลุยไฟไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปอีกด้วย
เป็นความเชื่อและความศรัทธา ของบรรดาผู้ที่เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อกันว่าการได้ลุยไฟจะเสริมสร้างสิริมงคลให้กับผู้ที่เข้าร่วมพิธี อย่างน้อยคือการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง สงบนิ่ง เป็นการเตือนให้รู้ว่า หากมีจิตใจสะอาด ก็จะผ่านพ้นเรื่องราวเลวร้ายได้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่ลุยไฟเท่านั้น คนทั่วไป ก็สามารถยึดหลักนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
พิธีลุยไฟยาวนานไปจนค่ำ ด้วยบรรดาศิษยานุศิษย์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี และไม่ได้ลุยกันแค่รอบเดียว เท่าที่เห็น เกี้ยวละ 3-4 รอบ
หลังจากจบพิธี เรามีเป้าหมายต่อไปให้มุ่งหน้ากันต่อ เพราะนราธิวาสรอเราอยู่ ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงจากปัตตานีก็ไปถึง ระหว่างการเดินทาง บ้างก็ใช้เวลาพักผ่อน บ้างก็คุยกันถึงภาพที่ถ่ายมา
หลายคนพูดไปในทำนองเดียวกันว่า นึกไม่ถึงเลยนะว่า ปัตตานีจะยังมีมุมมองดีๆ ให้มาเที่ยวชมอีกเยอะเลย
(ขอขอบคุณ ททท.สำนักงาน นราธิวาส และ ไปไหนดี ทราเวล มูลนิธิเทพปูชนียสถาน, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส สำหรับการเดินทางในทริป เก๋ายกก๊วน ชวนกันเที่ยวใต้ 2561)