เสน่ห์ของเมืองเก่าอยุธยายังคงตรึงตาตรึงใจ ไม่ว่าจะเดินทางมาครั้งใด ก็ยังชื่นใจมิเคยเสื่อมคลาย จากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ท่ามกลางวิถีชีวิตของผู้คนอันน่าสนใจ
จากสภาพภูมิอากาศในช่วงหน้าฝนของปีนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ประสบกับภาวะน้ำท่วม หนึ่งในนั้นคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่านถึง 3 สาย ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี คนอยุธยาจึงคุ้นชินกับวิถีชีวิตกับสายน้ำ บ้านเรือนริมชายฝั่งส่วนใหญ่มีเรือเป็นของตัวเอง แม้ว่าการสัญจรทางน้ำจะไม่เป็นที่นิยมเหมือนในอดีต แต่เมื่อฝนเทลงมา ชาวอยุธยาจึงต้องเตรียมรับกับสภาพน้ำที่เอ่อล้นอยู่เสมอ
สำหรับปีนี้ในตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีน้ำท่วมหลายแห่ง แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคสำหรับสำหรับเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ล่าสุดเมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง พร้อมคณะสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมเข้าร่วมงาน “อยุธยา Walking Street” บริเวณถนนนเรศวร ตั้งแต่หน้าวัดมหาธาตุ ไปจนถึงวัดราชบูรณะ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2565
ภาพแรกที่สัมผัสเมื่อเข้าถึงตัวเมืองอยุธยา คือ ปริมาณน้ำริมตลิ่งที่เอ่อล้นจนท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชนในบางพื้นที่ เมื่อเข้าสู่ตัวเมือง บริเวณการจัดงานอยุธยา Walking Street เต็มไปด้วยความคึกคักตามปกติ มีการออกร้านจำหน่ายอาหารเป็นจำนวนมาก สำรวจพบว่าราคาค่อนข้างเป็นมิตร จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายใต้มาตรการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด นอกจากการออกร้านแล้ว ยังมีกิจกรรมการแสดงบนเวที การฉายหนังกางแปลง และจุดต่าง ๆ สำหรับการถ่ายรูป
หลังจากออกสำรวจแหล่งท่องเที่ยวหลักในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ายังมีหลายแห่งที่ไม่มีน้ำท่วม บางแห่งมีการบริการจัดการทำแนวกั้นน้ำได้ดี บางแห่งมีปริมาณน้ำเข้ามาในพื้นที่เพียงเล็กน้อย
เริ่มต้นจาก “วัดราชบูรณะ” ถนนมหาราช ปัจจุบันยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ
จากนั้นได้เดินทางเข้ากราบสักการะ “ศาลหลักเมืองพระนครศรีอยุธยา” เป็นศาลแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 เนื่องจากศาลเก่าได้ชำรุดเสียหายไปกับเหตุการณ์ในอดีต มีเสาหลักเมืองจำลองสำหรับประชาชนที่ต้องการปิดทอง ผูกผ้าแพร หรือถวายดอกไม้ ปัจจุบันยังคงเป็นที่เคารพบูชาของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
บริเวณหน้าศาลหลักเมือง เป็นที่ตั้งของ “วังช้างอยุธยาแลเพนียด” ในวันนี้บรรดาช้างและควาญช้างยังคงออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะถ่ายรูปกับช้าง หรือนั่งหลังช้างพาชมเมืองระยะสั้น เป็นอีกกิจกรรมที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทุกวัย
เดินทางต่อไปอีกไม่ไกล อีกจุดที่ยังเข้าไปท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยไม่เจอน้ำท่วม คือ “วัดโลกยสุธา” ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ใกล้กับพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์ อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยา โดดเด่นด้วยพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา องค์พระมีความยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “วัดพระนอน” แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่ยังคงรายละเอียดอันงดงาม ด้านหลังยังคงปรากฏร่องรอยของฐานอาคาร และพระปรางค์ที่ยังคงตั้งตระหง่าน
เมื่อเดินทางต่อไปสำรวจยังบริเวณแก้มลิง บริเวณทุ่งภูเขาทอง สถานที่รองรับและระบายน้ำ พบว่าปริมาณน้ำเริ่มเต็มตลิ่งแต่ยังไม่เป็นปัญหาสำหรับการสัญจรไปมา “วัดภูเขาทอง” เจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ มองจากฝั่งของบึงน้ำ สะท้อนภาพงดงาม เป็นฤดูกาลที่แตกต่างที่สวยแปลกตา
ออกจากตัวเมืองไปประมาณ 7 กิโลเมตร บริเวณริมคลองวัดตูม ที่ตั้งของ “วัดตูม” ริมถนนอยุธยา-อ่างทอง แม้ว่าจะมีปริมาณปริ่มเข้ามาในบางส่วนของตัววัด แต่รถสามารถผ่านเข้ามาได้อย่างสะดวก ยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามากราบขอพรกับ “หลวงพ่อสุข” หรือ “หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่องปางมารวิชัยที่มีพุทธศิลป์อันงดงาม ในคราวกรุงแตกพระพุทธรูปองค์นี้ยังรอดพ้นจากการเผาทำลายมาได้ จึงเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง
เช้าวันใหม่เดินทางสู่ “วัดหน้าพระเมรุ” ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) เป็นวัดเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่ปรากฏภายในวัดนี้ คือ พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ สันนิษฐานว่าได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประทับราหูแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา ด้านหน้าพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 26 องค์ด้านหลังพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 22 องค์ รวมเทวดา 48 องค์
จากนั้นเดินทางสู่ “วัดพนัญเชิง” วัดเก่าแก่คู่เมืองอยุธยา พระอารามที่มีแม่น้ำทั้ง 3 สายไหลเวียนมาบรรจบกัน เพื่อกราบขอพร “หลวงพ่อโต” (พระพุทธไตรรัตนนายก) หรือ “เจ้าพ่อซำปอกง” อันเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีน ปัจจุบันยังมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร ศิลปะแบบปูนปั้นลงรักปิดทอง ถือเป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุง ปัจจุบันทางวัดได้วางแผนและจัดการวัดเป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาไหว้พระได้ตามปกติ
อีกจุดที่น่าสนใจ แม้จะอยู่ในตัวเมืองอยุธยาแต่นักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่รู้จักกันมากนัก คือ “วัดสมณโกฏฐาราม” ด้วยความงดงามของพระอุโบสถสมัยอยุธยา ลักษณะก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกทางด้านข้าง 4 ด้าน ภายในพระอุโบสถมีหลังคาต่อเป็นโครงไม้แบบหน้าจั่ว ประดิษฐานพระประธาน กว้างประมาณ 3.5 เมตร
“วัดสมณโกฏฐาราม” สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา (ปาน) อาจเป็นในช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ไปกันต่อที่ “วัดดุสิดาราม” ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2100 นอกจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ปัจจุบันยังเป็นอีกจุดสักการะหลวงพ่อในโบสถ์ และขอพรยักษ์ใหญ่ 2 ตนบริเวณหน้าโบสถ์ที่สร้างใหม่ คือ “ท้าวธตรัฏฐะ” และ “ท้าวเวสสุวรรณ” ซึ่งการรันตีจากคนในพื้นที่ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ปัจจุบันมีสายมูเดินทางมาไหว้ขอพรกันมากขึ้น
ปิดท้ายที่ “วัดธรรมาราม” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา งดงามด้วยอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในมีโบราณสถานวัดธรรมาราม แสดงถึงความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยและศรีลังกา ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2546 และครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับศรีลังกา ในปี 2548 ภายในวัดยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์พระอุบาลี แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระอุบาลีที่เคยจำพรรษาอยู่ที่นี่เมื่อในอดีต
ท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป พระนครศรีอยุธยายังคงสะท้อนภาพความงดงามในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ความเชื่อ ความศรัทธาและสิริมงคล อันเป็นขวัญและกำลังใจให้กับทุกคน อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกท่าน และขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี