หลังวิกฤตสกุลเงินเอเชียในปี 2540ที่เผยให้เห็นความเปราะบางของอาเซียนต่อกระแสเงินทุนข้ามพรมแดน ทว่าภูมิภาคนี้ ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก
Vijay Eswaran, Founder and Executive Chairman กลุ่มคิวไอ กรุ๊ป (QI Group) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในอาเซียนยังคงมีอยู่ในระดับหนึ่ง และ การพัฒนาอย่างรวดเร็วนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้นและความไม่เท่าเทียมกันในระดับสูง ซึ่งบ่อนทำลายการต่อสู้กับความยากจน ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุกคามความสามัคคีในสังคม
อันที่จริงแล้ว ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดของมาเลเซียได้เสนอแนวคิดในการใช้เงินสกุลเดียวกันในภูมิภาค และเมื่อไม่นานนี้ในปี 2562 เขาได้ย้ำข้อเสนอนั้นอีกครั้ง โดยระบุว่าอาเซียนควร ‘นำสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขายทั่วไปมาใช้ ไม่ใช่เพื่อนำมาใช้ในภูมิภาค แต่เพื่อใช้ในการชำระเงินสำหรับการค้า’ ซึ่งจะถูกตรึงไว้ด้วยราคาทองคำ ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างสกุลเงินที่ใช้แทนดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักสำหรับการค้าและการลงทุนในภูมิภาค
ทำไมต้องผลักดันให้เกิดการใช้เงินสกุลเดียวกันในอาเซียน
สิ่งที่เราต้องทำคือให้ดูตัวอย่างจากยุโรปซึ่งเงินยูโรเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการใช้สกุลเงินเดียวกัน ในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่นำมาใช้เงินสกุลยูโรมีส่วนทำให้เกิดเสถียรภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเศรษฐกิจยุโรป การใช้สกุลเงินเดียวกันช่วยรักษาราคาให้คงที่และปกป้องเศรษฐกิจของเขตยูโรจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายุโรปจะแสดงให้เห็นว่าการใช้สกุลเงินเดียวกันได้ผลจริงในโลกยุคโลกาภิวัตน์แต่ก็ต้องระมัดระวังตามที่เห็นได้จากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปซึ่งเกิดขึ้นโดยอ้อมจากนโยบายเงินตราสกุลเดียวของยูโรที่ไม่เข้ากับสภาพเศรษฐกิจในท้องถิ่น
ปัญหาจากการใช้หลายสกุลเงิน
ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว สกุลเงินต่างๆมีแนวโน้มที่จะผันผวน มากกว่าที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะแสดงไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กที่มีตลาดทุนที่อ่อนแอ
ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียหลายแห่งถือสินทรัพย์สำรองที่มีนัยสำคัญในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นหลักประกันตนเองต่อความไม่มั่นคงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในระดับสูงเช่นนี้ ประเทศต่างๆ ในเอเชียจึงเผชิญกับความสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจของเราอยู่ภายใต้ ‘วัฏจักรการเงินโลก’ ทั้งในด้านกระแสเงินทุน ราคาสินทรัพย์ และการเติบโตของสินเชื่อ
ประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้สินจากสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมากซึ่งไม่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงจึงมัก “กลัวค่าเงินลอยตัว” นโยบายการเงินในประเทศเหล่านี้ มีแนวโน้มที่เป็นแบบวัฏจักรมากกว่าที่จะต่อต้านวัฏจักร ตรงข้ามกับความคาดหวังโดยทั่วไปในอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นได้ มักจะกลายเป็นสาเหตุของแรงสั่นสะเทือนแทนที่จะเป็นสิ่งที่ช่วยรองรับรับแรงสั่นสะเทือนอย่างที่ควรจะเป็น
ความเสี่ยงจากการกำหนดราคาสกุลเงินผิดพลาดภายใต้ระบอบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวนั้นมีอยู่มากมายและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น การค้าที่ลดลง การลงทุนน้อยลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ต่ำลง
มีขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้เกิดการบูรณาการทางการเงินมากขึ้นในภูมิภาค ในปี 2543 สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (ASEAN+3) ได้จัดตั้งเครือข่ายข้อตกลงแลกเปลี่ยนสกุลเงินทวิภาคีขึ้นเพื่อให้เกิดสภาพคล่องระยะสั้นสำหรับรับมือกับวิกฤตในอนาคต ในที่สุด เครือข่ายดังกล่าวก็กลายเป็นหน่วยงานที่เป็นทางการมากขึ้น ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี หรือ Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) นอกจากนี้ ในปี 2554สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ยังก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังและสนับสนุนการริเริ่มในระดับภูมิภาคอีกด้วย
ประโยชน์ของการใช้เงินสกุลเดียวกัน
การใช้เงินสกุลเดียวส่งผลดีอย่างไรต่อภูมิภาคอาเซียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยเช่นเดียวกับการใช้ภาษาเดียวกันที่ช่วยให้ผู้คนสามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้สกุลเงินเดียวกันช่วยขจัดความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน ป้องกันการโจมตีจากการเก็งกำไร และยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับภูมิภาคอาเซียน
อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอาจลดลงและมีความผันผวนน้อยลงการใช้สกุลเงินเดียวกันยังช่วยให้การค้าภายในภูมิภาคไหลเวียนได้มากขึ้นทำให้เกิดแรงกดดันต่อราคาและส่งผลให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลง
บุคคลทั่วไปก็จะได้รับประโยชน์เช่นกันเนื่องจากไม่ต้องแลกเงินเมื่อเดินทางภายในภูมิภาคอีกต่อไป อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางภูมิภาคของประเทศไทย การใช้เงินสกุลเดียวกันจะช่วยสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยในการค้าภายในอาเซียนอีกด้วย
บริการต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการท่องเที่ยว อาจมีราคาถูกลงสำหรับพลเมืองในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และทำให้ความต้องการในภาคส่วนเหล่านี้เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้มีพรสวรรค์กันได้อย่างง่ายดายซึ่งนำไปสู่โอกาสในการจ้างงานที่มากขึ้นตลอดจนการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
เมื่ออาเซียนกำลังจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกภายในปี2573จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าสกุลเงินอาเซียนเพียงสกุลเดียวอาจกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกได้แม้ในปัจจุบันอาเซียนจะมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศถึงเกือบ13.7%แต่การเป็นตลาดเดียวกันยังสามารถยกระดับบทบาทของอาเซียนในฐานะผู้เล่นระดับโลกขึ้นได้อีก
ปัญหาจากการใช้เงินสกุลเดียวกัน อย่างไรก็ตามการใช้สกุลเงินเดียวกันอย่างยั่งยืนในระดับที่ใช้งานได้จริงอาจทำได้ยากกว่าที่คิด
จากรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชียปัจจัยที่ขัดขวางการนำเงินสกุลเดียวกันมาใช้ในปัจจุบันได้แก่ความหลากหลายในระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ จุดอ่อนในภาคการเงินของหลายประเทศ ความไม่เพียงพอของ “กลไกการรวบรวมทรัพยากร”และสถาบันที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นสำหรับสหภาพสกุลเงินที่สำคัญที่สุดภูมิภาคนี้ยังคงขาดเงื่อนไขทางการเมืองสำหรับความร่วมมือทางการเงิน
ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายยิ่งทวีความซับซ้อนให้กับภูมิภาคนี้ยิ่งขึ้นไปอีก สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมากที่สุด มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเมียนมาร์เกือบ 60 เท่า โดยเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลงานค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่
สกุลเงินทั่วไปต้องการระบบการเงินและตลาดที่แข็งแกร่งรวมถึงการสนับสนุนจากสถาบันแต่ไม่ใช่ทุกประเทศในอาเซียนที่มีสถาบันเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่อภาคการเงินซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทยการกลับมาของการประท้วงทางการเมือง หลังจากเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังขาดการควบคุมนโยบายการเงินและการคลังในระดับประเทศ การจำกัดอำนาจอธิปไตยและเอกราชของรัฐบาล และที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศยินดีที่จะยอมรับแนวคิดนี้ในทันที
ประโยชน์ในวงกว้าง
การนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศเช่นสิงคโปร์และกัมพูชากำลังสำรวจความเป็นไปได้เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการชำระเงินอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาข้างต้น สกุลเงินดิจิทัลและนวัตกรรมอื่นๆ ในระบบการชำระเงินสามารถเพิ่มความรวดเร็วของการทำธุรกรรมในประเทศและการค้าข้ามแดนลดต้นทุนการทำธุรกรรมและขยายการเข้าถึงระบบการเงินของครัวเรือนที่ยากจนและในชนบทเนื่องจากอาเซียนยังคงต้องพัฒนาการดำเนินงานในการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ของการมีสกุลเงินดิจิทัลจะช่วยให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ในเชิงเศรษฐกิจการใช้สกุลเงินเดียวกันสามารถให้ประโยชน์แก่ประเทศที่กำลังชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนจากการอาจสูญเสียความเป็นอิสระทางการเงินกับผลประโยชน์จากเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสกุลเงิน
การใช้สกุลเงินเดียวกันอาจช่วยยกระดับการเติบโตและการพัฒนาของอาเซียน และสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ภูมิภาคนี้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้นแต่ยังมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจโลกอีกด้วย