สภาพอากาศที่แปรปรวน ท่ามกลางวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้โลกเราเชื่อมโยงกันอย่างสะดวกและง่ายดาย เป็นปัจจัยหนึ่งในการแพร่ระบาดของโรค บางโรคก็มีชื่อประหลาดๆ ไม่เคยพบเห็นในเมืองไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “โรคติอต่ออุบัติใหม่” ซึ่งองค์อนามัยโลกระบุว่า มีหลายโรค ที่ยังไม่มีการรักษา
โรคอุบัติใหม่ที่ว่านี้ คืออะไร หากเจาะจงเฉพาะโรคอุบัติใหม่ที่ประเทศไทยมีความเสี่ยง ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ
1.โรคติดต่ออุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เช่น โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (2009) เป็นต้น
2.โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง โรคไข้เวสไนล์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น
3.โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่ เป็นต้น
สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่ท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคระบาดใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ ประกอบกับที่องค์การอนามัยโลก ได้มีการทบทวนรายชื่อโรคติดต่ออันตรายที่อาจมีการแพร่ระบาดได้ทั่วโลก ซึ่งยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน เพื่อให้ทุกประเทศมีการเตรียมพร้อมรับมือและทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม รวมทั้งเน้นในเรื่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพคนและ สุขภาพสัตว์ หรือที่เรียกว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health
ทั้งนี้ โรคติดต่ออุบัติใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเดินทางที่สะดวกทำให้โรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งโรคติดต่ออุบัติใหม่ส่งผลกระทบต่อคน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2560–2564 (ระยะเวลา 5 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดการป่วย การตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ และให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการทั้งสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีภาคส่วนต่างๆร่วมดำเนินการแบบบูรณาการตามแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบาย และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมามีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศ ระหว่าง 8 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และสภากาชาดไทย
เป็นการดำเนินงานอย่างบูรณาการ เพราะเรื่องของโรคภัย มีหลายหน่วยงานที่ต้องเข้ามาช่วยกันป้องกันและดูแล รวมทั้งทุกคนที่ต้องหมั่นรักษาสุขภาพของตัวเอง และคอยติดตามข่าวสารในการระบาดของโรคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันและดูแลได้อย่างทันท่วงที