Hattha Bank สถาบันการเงินชั้นนำในประเทศกัมพูชา ในเครือกรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เดินหน้ายกระดับบริการด้านออนไลน์แบงก์กิ้งในประเทศกัมพูชา เพื่อตอบรับทั้งความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19
ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาลูกค้ามากกว่าครึ่งของ Hattha Bank ได้ลงทะเบียนเปิดใช้บริการโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งสอดรับกับการใช้งานบริการชำระเงินและการโอนเงินทางดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศกัมพูชา โดยในปี 2564 มากกว่าหนึ่งในสาม (36%) ของชาวกัมพูชานิยมชำระเงินแบบดิจิทัลผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งแซงหน้าการชำระเงินโดยตรงผ่านการรูดบัตรเครดิต (23%) และการชำระเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต (10%)
นอกเหนือจากการชำระเงินแบบดิจิทัล ลูกค้าบริการโมบายแบงก์กิ้งของ Hattha Bank ยังสามารถทำการโอนเงินข้ามประเทศไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยา และชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในประเทศไทยผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดได้อีกด้วย
ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กัมพูชาเป็นอีกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จำนวนประชากรมีอายุน้อยที่สุด ผนวกกับความคุ้นเคยในการใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ตลอดจนการเติบโตอย่างรวดเร็วในภาคบริการทางการเงิน จึงทำให้กัมพูชามีรากฐานที่ดีเยี่ยมต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล
การนำเสนอบริการโมบายแบงก์กิ้งที่เพิ่มมูลค่านี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ทั้งผู้ประกอบกิจการรายย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง (MSME) ในประเทศรวมกว่า 500,000 รายได้รับประโยชน์จากวิธีการรับชำระเงินและการโอนเงินที่รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น เราคาดหวังว่าบริการโมบายแบงก์กิ้งจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มชนชั้นกลางที่ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ตลอดจนผู้บริโภคที่ร่ำรวยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจอีกด้วย”
การเติบโตของร้านค้าออนไลน์และความคุ้นเคยกับการชำระเงินรูปแบบดิจิทัลในกลุ่มมิลเลนเนียล และกลุ่มเจน Z กำลังขับเคลื่อนการยอมรับการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน (Mobile Payment) ในกัมพูชา จากการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ทำให้เห็นว่ามากกว่าหนึ่งในสี่ (29%) ของชาวกัมพูชามีการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งเป็นครั้งแรก ในช่วงกลางปี 2564 ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาเริ่มออกคิวอาร์โค้ดกลางในตลาดการเงินของกัมพูชา และในเดือนมกราคม 2565 Hattha Bank ก็ได้เปิดตัวบริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งมีลูกค้ามากกว่า 63,000 รายที่สามารถสร้างคิวอาร์โค้ดของตนเองเพื่อการใช้จ่ายก่อนสิ้นปี 2565
โอกาสในการบริโภคสำหรับผู้บริโภค และการยอมรับดิจิทัลแบงก์กิ้ง ประกอบด้วย
- ภาคอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง
- การนำเสนอบริการใหม่ ๆ อาทิ บริการการแพทย์ทางไกล และเทคโนโลยีการศึกษา (EduTech)
- โมเดลธุรกิจใหม่ ที่รวมถึง การเปิดรับสมัครสมาชิก (subscription) การให้เช่าและแบ่งปัน (renting and sharing) จะได้รับการผลักดันให้รุดหน้า
- ความต้องการค้าปลีกที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ที่ผู้บริโภคต้องการให้มีทั้งธุรกิจในแบบออนไลน์และออฟไลน์
- การเติบโตของบริการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
- การเติบโตของซูเปอร์แอป ที่รวมบริการทั้งหมดไว้ในแอปเดียว
“ผู้บริโภคทั่วทั้งภูมิภาคกำลังยอมรับไลฟ์สไตล์แบบดิจิทัลกันเพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งของภูมิภาค กรุงศรีได้ช่วยให้คนและธุรกิจทั่วอาเซียนเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายทางการเงินที่แข็งแกร่ง และหยิบยื่นโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ กิจการต่าง ๆ และผู้บริโภคในการซื้อ ขาย และทำธุรกิจร่วมกัน การได้เห็นพัฒนาการทางภูมิทัศน์ด้านธนาคารและการชำระเงินดิจิทัลในกัมพูชา ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจทั้งในประเทศกัมพูชาเองรวมทั้งประเทศไทย และเรายังมีเป้าหมายที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอีกด้วย” ไพโรจน์ กล่าวสรุป
ประเทศกัมพูชามีประชากรราว 17 ล้านคน โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 25 ปี ขณะที่ประเทศกัมพูชานับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงที่สุดในโลก โดยมีการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 20.8 ล้านหมายเลข หรือ 124% ของจำนวนประชากร นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อสมาร์ตโฟนกับอินเทอร์เน็ตมากถึง 10.7 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราค่าบริการที่ถูกที่สุดในภูมิภาคนี้