อพท. เตรียมความพร้อมดัน “เมืองน่าน” ชิงเมืองสร้างสรรค์โลก จัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งที่ 1 เชิญสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลกร่วมประชุม หวังใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ศักยภาพของเมืองน่าน
ศุภรดา กานดิศยากุล ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับจังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย จัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งที่ 1 (UNESCO Creative Cities Network) UCCN Symposium for Tribal Crafts and Folk Arts ครั้งที่ 1
เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ถึงความพร้อมของเมืองน่าน ที่เตรียมยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2566
การประชุมครั้งนี้ อพท. ได้เชิญเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลกร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาทิ เมืองจินจู ประเทศเกาหลีใต้ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เกาะอัมบน (Ambon) ประเทศอินโดนีเซีย เมืองพาดูคาห์ (Paducah) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองเหวย์ฟาง (Weifang) ประเทศจีน และเมืองยอร์ค (York) ประเทศ
สหราชอาณาจักรอังกฤษ พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั้ง 5 เมือง ในประเทศไทยได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพฯ และเพชรบุรี เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ โอกาสนี้ยังได้เชิญผู้บริหารจากสำนักงานพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว เช่น เมืองสุโขทัย และที่เตรียมสมัครเข้าเป็นเครืองข่ายเมืองสร้างสรรค์อย่าง อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราญอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกด้วย
“ที่ผ่านมา อพท. ส่งเสริมและพัฒนาเมืองน่าน ให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมทั้งด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยส่งเสริมและต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และผลงานใหม่ๆ ตามแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เพื่อให้ได้เห็นภาพการดำเนินงานอย่างจริงจังและรับรู้ถึงศิลปะวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทางด้านภูมิปัญญาที่สืบทอดมายาวนาน”
ฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ฯ ในครั้งนี้ กล่าวว่า จังหวัดน่านยินดีที่จะสนับสนุนการเข้าสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ของยูเนสโก ตามการผลักดันของ อพท. พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองมาเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมการพัฒนาเมืองอย่างรอบด้านที่ตอบทั้งเป้าหมายของเมืองสร้างสรรค์เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1: การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านการสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 3: การสร้างโอกาสและการเรียนรู้ อย่างเท่าเทียมทางสังคมยุทธศาสตร์ที่ 4: การสืบสานและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ยุทธศาสตร์ที่ 5: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเมืองสร้างสรรค์น่าน ยุทธศาสตร์ที่ 6: การสื่อสารและพัฒนาเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน
นอกจากนั้นยังได้ริเริ่มกิจกรรมและโครงการในเมืองน่าน ภายใต้การกำหนดกรอบแนวคิด 3 ประเด็น คือ งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่านที่เชื่อมโยงกับ 3 มิติ ได้แก่ 1.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงสายน้ำ 2.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงวัฒนธรรม และ 3.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงเกษตรกรรม เพื่อตอกย้ำว่าศิลปวัฒนธรรมของเมืองน่านมีมาอย่างยาวนานและได้รับการสืบทอดผ่านกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ และมีความพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในปีนี้