สานสัมพันธ์ไทย–กานา กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐกานา ประจำประเทศไทย จัดการประชุม ผู้ประกอบการไทย -กานา เจรจาจับคู่ธุรกิจการค้า บุกเบิกการค้าแอฟริกา ย้ำไทยได้ประโยชน์แลกเปลี่ยนการค้าด้านเกษตร เดินหน้าหนุนกานาปลูกข้าวป้อนการบริโภคในประเทศ แจงไม่กระทบต่อข้าวสายพันธุ์ไทย คาดไทยส่งออกมูลค่ากว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดร.สิชา สิงห์สมบุญ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐกานาประจำประเทศไทย พร้อมด้วย เยา ฟริมพง อัดโด ( H.E. Mr. Addo Yaw Frimpong )รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสาธารณรัฐกานา ฟลอเรนซ์ บัวร์คิอโคนอร์ (H.E. Mrs. Florence Buerki Akonor )เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกานาประจำประเทศมาเลเซีย ดร.โจเซฟ เซียว อาชพง ประธานบริษัท โจสพง กรุ๊ป ออฟ คอมปานีส์ สาธารณรัฐกานา แอเดอเลด อราบา เซียว อาชพง (delaide Araba Siaw Agyepon : CEO of AAC ) ประธานบริหารบริษัทเอเชียนแอฟริกันคอนซอเตียม ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือการค้า การลงทุนระหว่างไทยและกานา ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน โฮเทล กรุงเทพฯ
ดร.โจเซฟ เซียว อาชพง กล่าวว่า หลังจากเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ที่ได้เดินทางมาประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างไทยและกานามีความคืบหน้ามากโดยเฉพาะในวันนี้มีผู้ประกอบการนักลงทุนสนใจเข้าร่วมประชุมการค้าการลงทุนกับประเทศกานามากขึ้น จึงถือว่าประสบผลสำเร็จขณะเดียวกันยังได้พบปะผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรงสี ปุ๋ย เครื่องจักรกล รวมถึงสภาการเกษตรแห่งชาติในประเทศไทย สมาคมโรงสีไทย ในการที่จะร่วมมือกัน
จึงเชื่อว่าอีกไม่นาน การได้ แลกเปลี่ยนความรู้ในด้านนี้ จะทำให้กานาเป็นประเทศส่งออกข้าวอีกประเทศหนึ่งและให้ประชากรมีรายได้มากขึ้น ที่สำคัญจะสามารถผลิตข้าวได้เป็นของตนเองและส่งไปยังทั่วโลก แต่ยอมรับว่า การจะไปถึงจุดนั้น กานาจะต้อง ได้รับการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวของตนเอง ขณะเดียวกันที่ผ่านมา หลังได้พูดคุยกับประเทศไทยเมื่อ 5 เดือนก่อน ได้มีการนำเข้าสินค้า รวมถึงได้ผู้เชี่ยวชาญ ด้านปุ๋ย โรงสี การปลูกข้าว ไปทดลองปฏิบัติการ ที่ประเทศกานาแล้ว
ทั้งนี้คาดว่าว่าจะเกิดการลงทุนมากกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอนาคตเพื่อที่จะส่งเสริมการปลูกข้าวในกานา โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตรและเทคโนโลยีในการปลูกข้าว เนื่องจาก กานา กำลังพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวคาดว่าภายใน 3-5 ปี จะมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 50 ล้านไร่ แต่ขณะนี้ มีพื้นที่ 12.5 ล้านไร่ พร้อมที่จะเพาะปลูก เพราะมีระบบชลประทาน มีน้ำที่เพียงพอ ขณะที่การบริโภคข้าวที่กานา มีอยู่ 1.4 ล้านตัน ต่อปี แต่คนต้องการบริโภคอยู่ที่ 2 ล้านตัน ต่อปี ขาดข้าวอยู่ 6 แสนตัน ต่อปี
ดังนั้น ความร่วมมือจากรัฐบาลไทยโดยการนำของดร.สิชา ถือเป็นการให้โอกาสนักธุรกิจไทยไปเปิดตลาดการค้า และโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จในอนาคตโดยเร็ว และทางบริษัท ของตนเอง นอกจากข้าวแล้วยังสนใจพืชผลทางการเกษตรไทยเช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง อาหารสัตว์ ถือเป็นความต้องการอย่างมาก เพราะไทยถือว่าเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรของโลกนี้คือสิ่งที่ตนเองต้องการ
ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสาธารณรัฐกานา กล่าวเสริมว่า กานา มีความสนใจอาหารสัตว์ ในอุตสาหกรรมไก่ เนื่องจากอาหารสัตว์ราคาแพง ทำให้ราคาไก่ ก็แพงขึ้นตามสัดส่วนจึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง จึงอยากฝากผู้ประกอบการไทย หากมีเทคโนโลยีด้านนี้สามารถที่เจรจาการค้า ร่วมมือพัฒนาในด้านนี้ได้เพื่อลดราคาอาหารสัตว์ในกานาได้
ฟลอเรนซ์ บัวร์คิอโคนอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนของกานา มีขิงที่เผ็ดร้อน แตกต่างจากประเทศไทย ขณะเดียวกันพืชโกโก้ ที่ขึ้นชื่อ สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศไทยที่ทำการปลูกในขณะนี้ได้
ส่วนข้อกังวลที่กานาจะพัฒนาข้าวเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นประเทศคู่แข่งทางการค้าข้าวกับไทย ดร.โจเซฟเซียว อาชพง กล่าวว่าย้ำว่า การพัฒนาการปลูกข้าวในกานา ยังคงต้องพัฒนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะยังล้าหลังกว่าประเทศไทย อย่างน้อย 50 ปี
ดร.สิชา สิงห์สมบุญ กล่าวเสริมข้าวที่พัฒนาในกานา ไม่สามารถ สู้ประเทศไทย และยืนยันจะไม่เอาพันธุ์ข้าวไทยไปทำโดยเด็ดขาด ถึงแม้จะมีการทดลอง ทั้งข้าวไทย ข้าวเวียดนาม กัมพูชา แต่บางพันธุ์ข้าวก็ไม่เหมาะสม แต่สำหรับองค์ความรู้ที่ไทยถ่ายทอดไปเชื่อว่าไม่มีวันหมดเพราะไทยยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่กานาเคยพูดว่าอีก 50 ปีจะตามไม่ทันเราเป็นเรื่องจริง ตนเองจึงตัดสินใจว่าจำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดความรู้ในเบื้องต้นและประเทศไทย จะได้เข้าไปอยู่ในหัวใจของคนกานา เพราะวันนี้ไทยจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ไทยยังมีคู่แข่งอีกหลายประเทศที่น่ากลัว ที่เปิดการค้าให้ขยายตัวมากขึ้น
การดำเนินโครงการนี้ ตนเองยืนยันว่าประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์ เพราะในวันนี้ได้เชิญภาคเอกชนนักลงทุน ทั่วประเทศรวมถึงเอสเอ็มอี ให้เข้ามา ลงทุนในประเทศกานา ทั้งนี้หากทุกคนร่วมมือกันอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ก็จะสามารถร่วมมือกันไปได้สามารถที่จะเจรจากับรัฐบาลของกานาให้เข้าใจในสิ่งที่จะมีการแลกเปลี่ยนกันในการที่จะขับเคลื่อนผ่านนักธุรกิจเข้าสู่โหมดเป็นผู้ส่งออกไปยังประเทศแอฟริกา
“ตนได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ขับเคลื่อนประเทศไทยในการบุกเบิกธุรกิจในประเทศแอฟริกาได้สำเร็จ สำหรับรัฐบาลกานา ต้องการพัฒนาปลูกข้าวให้มากขึ้นเนื่องจากขาดดุลการค้า และจะทำให้เศรษฐกิจของกานา ก้าวหน้า เพราะข้าวเป็นสิ่งจำเป็นของทุกคน หากจำได้พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งขอให้ไทยเป็นครัวโลก เป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลกได้รับประทานดังนั้นวันนี้จึงตัดสินใจทำโครงการสนับสนุนโครงการ บุกเบิกการค้ากับแอฟริกา” ดร.สิชา กล่าว
สำหรับการเยือนของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสาธารณรัฐกานา พร้อมนักธุรกิจชั้นนำของกานาครั้งนี้ ยังได้มีการเจรจาการจับคู่ธุรกิจการค้าระหว่างไทย กับกานาอีกด้วย โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมอย่างคับคั่ง